‘บิ๊กอู๋’เดินสยามชวนสังคม’ตื่นรู้’ความเท่าเทียมทางเพศ เนื่องในวันยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดงาน รณรงค์เผยแพร่เนื้อหา พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 เพื่อคุ้มครองป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เนื่องในวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ (International Day Against Homophobia, Transphobia and Biphobia หรือ IDAHOT) ณ ลานกิจกรรมสยามสแควร์วัน ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน กทม.

ภายในงานมีการเสวนา “พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558: ใครได้ใครเสีย?” เริ่มที่

นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดี สค. กล่าวว่า ไทยดำเนินการผลักดันแก้ไขกฎหมายเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศมาตามลำดับ ได้แก่ กฎหมายทางเลือกในการใช้คำนำหน้านามและชื่อสกุลได้ตามความสมัครใจ การแก้ไขกฎหมายการข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งขยายความคุ้มครองคนทุกเพศ ทุกสถานภาพ รวมถึงการกำหนดความผิดกรณีข่มขืนระหว่างคู่สมรส ตลอดจนการเปิดรับสมัครนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงของโรงเรียนนายร้อย ล่าสุดได้ออก พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายทางเลือกที่สำหรับผู้ถูกเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558 มีสาระสำคัญ เช่น คุ้มกันและป้องกันสิทธิให้กับผู้ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ให้ได้เข้าสู่กระบวนการของกฎหมายอย่างเสมอภาค โดยสามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงาน สค. อาคารยิปซั่ม ชั้น 23 หรือบ้านราชวิถี หรือพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ตามศูนย์ราชการของทุกจังหวัด และสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร 1300 ตลอด 24 ชม.

นายเลิศปัญญากล่าวอีกว่า จากนั้นจะมีคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรับสมัครและจะเสร็จสิ้นภายในเดือนนี้ เป็นผู้วินิจฉัย ซึ่งหากผลวินิจฉัยพบเป็นผู้ได้รับผลกระทบการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ จะได้รับเงินเยียวยาจากกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวยังกำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ (สทพ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดย สทพ.มีหน้าที่ออกนโยบายระดับชาติในการส่งเสริม ปกป้อง และแก้ไขกฎหมายไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ แต่ สทพ.ไม่มีอำนาจมากำหนดผลวินิจฉัย วลพ. อย่างไรก็ดี สค.จึงจัดงานเดินสายเผยแพร่กฎหมายดังกล่าวกับประชาชนโดยตรง เพื่อประโยชน์ต่อประชาชน

Advertisement

S__16318724

S__16318725

น.ส.จิตติมา ภาณุเตชะ ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า มีเหตุการณ์จริงในต่างประเทศที่กลุ่มเด็กอนุบาลรวมตัวฟ้องร้านของเล่นที่ขายของอย่ากีดกันทางเพศ สะท้อนถึงการตื่นรู้ของประชาชน ฉะนั้นไทยที่มี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมแล้ว คนไทยก็ควรตื่นรู้เช่นกัน โดยหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาชนสังคมต้องมาร่วมกันสร้างความตื่นรู้ เพื่อร่วมกันออกแบบสังคมใหม่ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงคือการเปลี่ยนแปลงที่คน ที่จะยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น ไม่ตัดสินใจจากอคติโดยปราศจากข้อเท็จจริง

Advertisement

นายพงศ์ธร จันทร์เลื่อน ผู้อำนวยการมูลนิธิเอ็มพลัส กล่าวว่า กฎหมายความเท่าเทียมเป็นการยืนยันว่าเราไม่ได้มีเพียงเพศชายและหญิงในสังคมเท่านั้น ทั้งยังเป็นเครื่องมือที่จะเอาเรื่องเล่าการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งเพศ เรื่องที่อยู่ใต้ดิน เอาขึ้นมาบนดิน เป็นเรื่องจริงที่มีการจัดการ ฉะนั้นควรเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้ในวงกว้าง ในรูปแบบกระชับ สั้น เร็ว เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติในสังคมต่อไป
น.ส.ชมพูนุท นาครทรรพ อดีตที่ปรึกษา รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า อยู่ในภาคธุรกิจได้เห็นการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศมากในการรับสมัครงาน ที่จะมีคำว่าเลือกเฉพาะเพศชาย เพศหญิง หรือบางตำแหน่งงานที่จะเลือกเฉพาะเพศทางเลือก เช่น ประชาสัมพันธ์ การตลาด ฉะนั้นก็ฝากไปบอกภาคธุรกิจต่างๆ ว่าเรามีกฎหมายความเท่าเทียมแล้ว การมาเปิดรับสมัครงานแล้วบอกว่าเลือกเฉพาะเพศนั้นเพศนี้ หรือบอกกับเว็บไซต์สมัครงานอย่างนี้ จะทำไม่ได้แล้ว เพราะต่อไปนี้สังคมไทยจะมีแต่ความเท่าเทียมของทุกเพศ

จากนั้น พล.ต.อ.อดุลย์เป็นประธานในพิธีเปิดงาน จากนั้นนำคณะผู้บริหาร พม. นักแสดง นักร้อง ตลอดจนเซเลบ เช่น ปอย-ตรีชฎา เพชรรัตน์, มาดามแป้ง-นวลพรรณ ล่ำซำ แบ่งสายเดินรณรงค์กับประชาชนย่านสยามสแควร์ ห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง สกายวอล์ก โดยได้รับความสนใจจากเหล่าวัยรุ่นและประชาชนทั่วไป

S__16318715

S__16318716

S__16318723
ปอย-ตรีชฎา และมาดามแป้ง ร่วมงาน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image