2 ปี คณะกรรมการความเท่าเทียมทางเพศ ถึงเวลาส่งเสียงเรียกร้องสิทธิ

2 ปี คณะกรรมการความเท่าเทียมทางเพศ ถึงเวลาส่งเสียงเรียกร้องสิทธิ

ความเท่าเทียมทางเพศ – ปัจจุบันมีคนไทยจำนวนมากไม่รู้ว่า หากถูกเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ ไม่ว่าจะกีดกันเพศใดเพศหนึ่งในการสมัครงาน ทำงาน เลื่อนตำแหน่ง รวมถึงการเรียน การใส่เครื่องแบบนักเรียนนักศึกษา ตลอดจนใช้บริการต่างๆ สามารถเรียกร้องเอาผิดตามกฎหมายได้นะ!

ภายหลังมี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 และคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ที่เป็นกลไกรับเรื่องร้องเรียนและวินิจฉัยดำเนินมาครบ 2 ปี จึงมีการสรุปการทำงานพร้อมมองไปข้างหน้าผ่านการเสวนา “2 ปี คณะกรรมการ วลพ. : สังคมเท่าเทียมแค่ไหน?” ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ

ศ.มาลี พฤกษ์พงศาวลี ประธานกรรมการ วลพ. กล่าวว่า วลพ.มีฐานะองค์กรกึ่งตุลาการ มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนและวินิจฉัยเรื่องการถูกเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมทางเพศ ซึ่ง 2 ปีของการมีคณะกรรมการ วลพ.ได้มีผู้เข้ามายื่นคำร้องทั้งสิ้น 37 คดี ส่วนใหญ่เป็นคนข้ามเพศที่เข้ามาร้องถึง 26 คดี ส่วนมากจะเป็นคดีการไม่ได้แต่งกายตามเพศสภาพในมหาวิทยาลัย การเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร รองลงมาเป็นผู้หญิงมายื่นคำร้อง 3 คดี ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รับการวินิจฉัยแล้ว 8 คดี อยู่ระหว่างการวินิจฉัย 20 คดี และไม่รับพิจารณา 9 คดี

“เราหวังว่ากลไก วลพ.จะช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะ วลพ.สามารถยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ ฉะนั้น คงเป็นภารกิจจากนี้ที่จะต้องให้ความรู้ประชาชนว่ามีกลไกแบบนี้อยู่นะ หากถูกเลิกจ้างเพราะเหตุแห่งเพศ ไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะเหตุแห่งเพศ ก็อยากให้มาร้องที่เราได้ เพราะ วลพ.ไม่สามารถหยิบเรื่องมาพิจารณาเองได้ ซึ่งดิฉันยังเสียดายที่กรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศเลิกรับนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง ไม่มีใครมาร้องเรียนเลย” ศ.มาลีกล่าว

Advertisement
รศ.มาลี พฤกษ์พงศาวลี

ศ.กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ กล่าวว่า จากที่สังเกตคำร้องส่วนใหญ่มาจากคนข้ามเพศที่ได้รับความไม่เป็นธรรมทางเพศ ทำให้ตนมองไกลไปกว่านั้นถึงการมีกฎหมายรับรองเพศสภาพ ซึ่งถือเป็นแนวโน้มทั่วโลกที่มีกฎหมายนี้ อย่างอาร์เจนตินา มอลตา ที่เปิดให้คนข้ามเพศสามารถยื่นขอเปลี่ยนคำนำหน้าได้โดยไม่ต้องผ่าตัดแปลงเพศมาก่อน เพราะกฎหมายรับรองเพศจะมาแก้ปัญหาในภาพรวมนี้

ภายในงานยังชวนขบคิดน่าสนใจ จากเหตุคนไทยอ่อนเรื่องสิทธิมนุษยชน ขาดพลังต่อรอง ทำให้ยอมจำนนต่อการถูกเลือกปฏิบัติ

ศ.กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์

ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะออกมาส่งเสียงเรียกร้องสิทธิ

Advertisement

ข่าวรอบด้าน กับ Line@มติชนนิวส์รูม คลิกเป็นเพื่อนกัน ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image