นักวิชาการจี้ปม ‘คนจนเมือง’ ชี้สุดเหลื่อมล้ำ ไร้สิทธิต่อรอง แนะเห็นค่าความเป็นคนมากกว่ามูลค่าเศรษฐกิจ

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 13 มีนาคม ที่ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ WAY Magazine จัดงาน “เมืองซ่อนคน คนจนในซอกหลืบของเมือง”

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า เรื่องคนจนเป็นปรากฏการณ์ที่ต้องหาสาเหตุ เป็นมิติระหว่างภาคเมืองและชนบท เพราะเป็นการบอกถึงความต้องการหาแสวงหาโอกาสและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งคนในชนบทไม่สามารถหาได้ จึงสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำ

รศ.ดร.ปัทมาวดีกล่าวว่า คนที่อพยพเข้าเมืองไม่ได้เป็นคนจนทุกคน มีโอกาสในการไต่ระดับ แต่โอกาสไม่ได้เป็นของทุกคน ชุมชนเมืองมีความเป็นพลวัต มาจากหลายวัฒนธรรมและหลายอาชีพ คนจนเมืองคือคนที่เข้ามาแสวงหาโอกาสโดยเริ่มจากการช่วยเหลือตัวเอง ซึ่งได้รับผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ เพราะต้องสัมพันธ์กับภาคเศรษฐกิจ เทคโนโลยี คำถามคือนโยบายของรัฐที่เข้ามาช่วยเหลือ เช่น รถเมล์ฟรี ค่าไฟฟรี ตรงกับความต้องการของคนจนแค่ไหน ผู้ที่ได้ประโยชน์อาจไม่ใช่คนจน ที่สำคัญกว่าคือการค้าขายข้างทาง ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าคนค้าข้างทางทุกคนเป็นคนจน เพราะมีทั้งคนมาใหม่และคนที่อยู่เดิม ดังนั้นต้องมีการวิจัยที่ละเอียด เพราะงานวิจัยเกี่ยวกับคนยังน้อย

Advertisement

ผศ.ดร.สักรินทร์ แซ่ภู่ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตรศิลป์ กล่าวว่า เราอยู่ จ.มหาสารคาม แต่ไม่รู้ว่าเรามานั่งฟังเรื่องที่กรุงเทพฯทำไม เรามีเขตเศรษฐกิจพิเศษ 84 แห่ง แต่กระบวนการมีส่วมร่วมมีปัญหาเพราะเป็นประชาพิจารณ์แบบทางเดียว ถ้าเราจะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องถามว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษคืออะไร และจะตอบโจทย์คนข้างล่างอย่างไร

“ประเทศไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียนโดยรัฐบาลผลักดันนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกระตุ้นความมั่นคงของประเทศ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่ก็ยังมีเสียงสะท้อนจากชาวบ้านในหลายพื้นที่ว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นต้นตอหนึ่งของความเหลื่อมล้ำ เป็นความคิดของระบบทุนที่สร้างวาทกรรมในการพัฒนา แต่คนระดับล่างจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง เพราะปัจจุบันมีทุน 4 ลูก คือ ทุนเศรษฐกิจ การเมือง สังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม แต่เราพูดได้แค่ 2 ทุนแรก จึงเสนอว่าให้ตั้งกองทุนที่มาจากผลกำไรบางอย่าง เป็นกองทุนที่ให้ประโยชน์กลับมายังท้องถิ่นได้มากขึ้น โดยมีโมเดลคือจะใส่กำไร 5% จากการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเข้าไปในกองทุน เพื่อให้ชาวบ้านไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ปรับปรุงบ้านของตนให้ดีเท่าๆ กับระบบตลาด ให้สามารถสู้กันได้ ไม่ต้องไปบอกเขาว่าพิเศษอย่างไร เพราะชุมชนพิเศษเองได้” ผศ.ดร.สักรินทร์กล่าว

Advertisement

ผศ.ดร.ปนายุ ไชยรัตนานนท์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ทุกวันนี้เห็นความเหลื่อมล้ำหลายด้าน ทั้งการมีส่วนร่วม ที่ดิน ผังเมือง สังคม แรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณะ รวมทั้งข่าวสาร ข้อมูล และกระบวนการยุติธรรม กลุ่มทุนมีบทบาทในการต่อรองโดยมีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ การเกิดของเมืองอุตสาหกรรมจึงเป็นรูปแบบท็อปดาวน์ ประชาชนไม่มีอำนาจต่อรอง จึงเสนอ 4 ประเด็น คือ 1.ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา กำหนดยุทธศาสตร์หรือการเข้ามาของอุตสาหกรรมในพื้นที่ของเขา เพราะประชาชนไม่มีโอกาสรู้ล่วงหน้าว่านโยบายอะไรที่จะเข้ามาในพื้นที่ เหมาะกับท้องถิ่นหรือไม่ โดยวิธีการคือ ร่วมสร้างองค์ความรู้เพื่อประสานกับรัฐ เพื่อเป็นอำนาจต่อรองในเชิงความรู้ และยกระดับการมีส่วนร่วมในระดับที่ร่วมตัดสินใจได้ 2.เศรษฐกิจที่ดิน ที่เกิดการเปลี่ยนมืออย่างรวดเร็วเพื่อเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ทำให้คนดั้งเดิมเกิดความเหลื่อมล้ำเพราะขาดที่ดินทำกิน เสนอว่าควรทำฐานข้อมูลต่างๆ เพื่อนำไปสู่การวางผังเมือง และเพื่อให้รู้ว่าในแต่ละพื้นที่มีการถือครองในลักษณะใดบ้าง 3.ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการวางผังเมือง มีมาตรการชดเชยการลดภาษี และจำกัดการถือครองที่ดินของกลุ่มทุน 4.การเข้าถึงข้อมูลและความรู้ ชุมชนไม่รู้ว่าในโรงงานอุตสาหกรรมมีอะไรบ้าง อาจมีสารพิษ สารเคมี แต่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ เกิดความเหลื่อมล้ำเรื่องข้อมูลและความรู้ ทำให้ไม่สามารถวางแผนป้องกันเมื่อจะเกิดอันตรายได้ จึงเสนอว่า ถ้าโรงงานอุตสาหกรรมจะตั้ง ก็จำเป็นจะต้องเปิดเผยข้อมูลการผลิตด้วย

ดร.กฤษณะ แพทย์จะเกร็ง นักวิจัยอิสระ กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำในเมืองท่องเที่ยว สิ่งที่พบคือ เมื่อมีการพัฒนา คนที่มีทุนเยอะกว่า มากกว่าในการลงทุน รวมทั้งสามารถพัฒนาและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้มากกว่า จุดนี้แสดงถึงความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสในการเข้าถึงทุน กลายเป็นวงจรสู่ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้
“นโยบายด้านการท่องเที่ยวไม่มีอะไรที่จะรองรับกลุ่มแรงงานได้ พูดง่ายๆ คือความมั่นคงต่างกัน สมมุติว่าถ้าผมเป็นแรงงานระบบ ถ้าพรุ่งนี้ถูกนายจ้างเลิกจ้างก็ขาดรายได้ แต่ผมยังมีรายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายอยู่ ความจนที่มีอยู่แล้วก็ถูกซ้ำเติมไปอีก ยิ่งความแตกต่างทางเพศ ค่าจ้างก็จะต่างไปอีก ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนจนเมืองแบ่งออกเป็น จนโอกาส จนสิทธิ จนรายได้ สำหรับผมคิดว่าถ้าเราไปแก้อันแรกที่โอกาส โดยหยิบยื่นโอกาสให้คนเข้าถึงสิ่งที่จำเป็นได้ก่อน ก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านอื่นลงได้” ดร.กฤษณะกล่าว

ด้าน ดร.กาญจนา เหล่าโชคชัยกุล วิทยาลัยนวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจสำคัญกว่าคุณค่าคน ทั้งสิทธิทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต และอาชีพ ประเด็นที่ 1 คือ ในระยะเวลา 50 ปี ปัญหาสำคัญคือความเหลื่อมล้ำในวัฒนธรรม เราไม่มีสิทธิในวิถีชีวิตของเรา เราพร้อมจะขายประวัติศาสตร์อันยาวนานในการพัฒนา แต่ไม่พร้อมที่จะให้สถานที่ ประเด็นที่ 2 คน (จน) เมือง เรามีความเหลื่อมล้ำในสิทธิทางสิ่งแวดล้อม หรือ เช่น ชุมชนกองขยะ หรือแม้แต่เรื่องฝุ่น ที่เราไม่มีแม้กระทั่งหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพเพียงพอ
“เราต้องมีมุมคิดเกี่ยวกับคุณค่าของชีวิตที่แตกต่างจากเดิม ต้องรวมเอาวิถีชีวิตเข้าไปในการพัฒนา คนในชุมชนต้องไม่ใช่แค่นั่งฟังเฉยๆ แต่ต้องมีส่วนร่วม ดังนั้น จึงเสนอให้ผลักดันโครงสร้างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการนิยามตัวเอง และการพัฒนาต้องไม่แช่เแข็ง เพราะเราไม่มีสิทธิแช่แข็งวิถีชีวิตใคร”

“เมื่อวันหนึ่งเราเห็นคุณค่าคนได้เท่ากับมูลค่าเมือง เมืองศูนย์กลางจะมีความหลากหลาย มีทั้งมูลค่าเศรษฐกิจ และมูลค่าของความเป็นคนด้วย” ดร.กาญจนากล่าว

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คนจนเมืองมีหลายรูปแบบ และคนจนเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่ใช่เฉพาะในกรุงเทพฯ เพราะโลกกำลังเข้าสู่ความเป็นเมือง สิ่งสำคัญคือคอนเน็กชั่นระหว่างเมืองกับชนบทมากกว่า
“คนจนเมืองคือผลและเหตุของการพัฒนา ที่ชี้ให้เห็นว่าความยากจนมีพลังในการต่อรอง และมีความสำคัญในการพัฒนาในหลายๆ พื้นที่ คนจนมีส่วนร่วมที่ทำให้เกิดเมือง แต่ก็ต้องเก็บซ่อนเอาไว้ คนจนมีทุนบางอย่างในตัว แต่ก็ต้องต่อรองให้ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับศิลปะว่าจะต่อรองอย่างไร สิ่งที่ค้นพบ คือการไล่รื้อไม่ได้มีมากนัก แต่การไล่รื้อทำได้มากขึ้น และการบีบซ่อนคนจนในเมือง ก็คือการขูดรีดในลักษณะหนึ่ง เพราะเขาไม่ได้ห้ามเข้าเมือง แต่ไม่ได้ให้อยู่ คนจึงเปราะบาง มีที่ทำมาค้าขายได้แต่โดนไล่ในบางครั้ง ไม่ใช่เพราะรัฐล้มเหลว แต่เพราะนี่คือเหตุผลที่ทำให้เมืองโต คนจนเมืองถูกดึงเข้ามาในระบบมากขึ้น เพราะเป็นเกมการต่อรองที่ต้องดำเนินต่อไป ดังนั้นความหวังของคนจนเมืองคือการรวมตัวและต่อสู้ไปเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อยังไม่เป็นประชาธิปไตย โอกาสในการต่อรองก็ลำบาก” ผศ.ดร.พิชญ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image