สธ.เผยเคล็ดลับ! วิธีแก้ปัญหาลูก “อ้วน-ไม่อยากไปโรงเรียน”

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าว “แนะเคล็ดลับเตรียมลูกให้พร้อมรับเปิดเทอม”ว่า ขณะนี้เริ่มมีการเปิดโรงเรียนกันแล้ว จึงอยากขอให้โรงเรียน รวมถึงศูนย์เด็กเล็กทุกแห่ง เตรียมความพร้อมเรื่องความสะอาดของสถานที่ และสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันโรคระบาดใน โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก โรคมือ เท้า ปาก และโรคอาหารเป็นพิษ เป็นต้น นอกจากนี้ต้องมีการส่งเสริมให้เด็กได้ออกกำลังกาย รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารมื้อเช้า ซึ่งจะช่วยเรื่องพัฒนาการทางสมอง มีผลในการควบคุมน้ำหนัก ดื่มนมอย่างน้อยวันละ 2 แก้ว พักผ่อนให้เพียงพอ 8-10 ชั่วโมง โดยจัดหลักสูตรในช่วงเพิ่มเวลารู้ให้นักเรียนมีความรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว

ทพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวว่า เด็กวัยเรียนควรกินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ โดยเฉพาะมื้อเช้า เพราะจะทำให้เด็กความจำดี พัฒนาสมอง ควบคุมน้ำหนักได้ ลดความเสี่ยงเกิดโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคนิ่ว เป็นต้น เคล็ดลับในการเตรียมอาหารให้เหมาะสมกับเด็กคือ 1.จัดอาหารหลักให้เด็กบริโภค 3 มื้อ ไม่เว้นมื้อใดมื้อหนึ่ง และควรจัดอาหารให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายเด็ก โดยใน 1 วัน เด็กควรกินข้าว/แป้ง 8 ทัพพี ผัก 4 ทัพพี ผลไม้ 3 ส่วน เนื้อสัตว์ 6 ช้อนกินข้าว นม 2 แก้ว 2.กำหนดเมนูอาหารแต่ละวัน อาจให้เด็กเสนอรายการบ้าง ให้เกิดการมีส่วนร่วม 3.ฝึกเด็กในการกินอาหารให้ตรงเวลา ไม่กินจุบจิบ ไม่กินขนมก่อนอาหารมื้อหลัก 4.ฝึกให้เด็กรู้จักความพอดีในการรับประทานอาหารแต่ละประเภท ไม่ควรตามใจ 5.เตรียมอาหารว่างให้เด็กกินตอนสายและตอนบ่าย

DSC_0105

DSC_0104

Advertisement

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ตามปกติแล้วเด็กชอบไปโรงเรียนเพราะสนุกและได้เข้าสังคม แต่ในช่วงเปิดเทอมแรกๆ พบว่าเด็กจะเป็นโรคกลัวโรงเรียน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม 1. กลัวการแยกจาก ทำให้เกิดความเครียดสูงและแสดงอาการมีไข้ต่ำๆ คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะซึ่งไม่ใช่การแกล้งทำ ผู้ปกครองต้องใจแข้งพาลูกไปโรงเรียนให้ได้ อย่าลังเล หรือให้เด็กหยุดเรียน เพราะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่จะทำให้อนาคตเด็กขาดเรียน หรือโดดเรียนบ่อย และ 2.การแกล้งกันด้วยคำพูดและการกระทำ ทำให้เด็กที่ถูกกลั่นแกล้งกลัวและไม่อยากไปโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นผู้กลั่นแกล้ง หรือผู้ที่ถูกแกล้ง ถือผู้ที่มีปัญหาต้องได้รับการบำบัดทั้งสิ้น เพราะลึกๆ แล้วคนที่แกล้งคนอื่นมักพบว่ามีปัญหาครอบครัว สำหรับการแก้ปัญหาคือเพิ่มการทำกิจกรรมเพื่อฝึกทักษะการอยู่ร่วมในสังคม ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต

“โรคกลัวโรงเรียนมักเป็นในเด็กแรกเข้า หรือช่วงเด็กเปิดเทอม พบได้ประมาณร้อยละ 2-3 แต่ถ้าถึงขั้นป่วย จะพบร้อยละ 1 ซึ่งอาการดังกล่าวจะเป็นอยู่ประมาณ 1 เดือน เป็นช่วงที่ต้องแก้ให้ได้ พ่อแม่ ไม่ควรโอ๋ลูกแล้วให้หยุดเรียน 2-3 วันแล้วให้กลับมาเรียนใหม่ และไม่ควรหลอกว่าจะพาไปที่เที่ยว หรือไปที่นั่นที่นี่ ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหา สุดท้ายแล้วเด็กก็ยังมีความกังวล หรือตอนที่ไปส่งลูกที่หน้าโรงเรียนก็ไม่ต้องพิรี้พิไร การกอด หอม ยิ่งทำให้เด็กไม่อยากแยกจาก ไม่ต้องไปอุ้มเพราะจะทำให้เด็กเกาะแน่นเป็นลูกลิง พอส่งถึงมือครูแล้วให้ตัดใจหันหลังเดินออกมาทันที” นพ.ยงยุทธ กล่าว

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image