กรมสุขภาพจิตออกข้อปฏิบัติสื่อมวลชน หลีกเลี่ยงนำเสนอภาพความรุนแรง

จากกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมในการนำเสนอข่าว และเผยแพร่ภาพสด ดร.วันชัย ดนัยตโมนุท อายุ 60 ปี อาจารย์ประจำวิทยาลัยการฝึกหัดครู สาขาการบริหารการศึกษา หลักสูตรปริญญาโท มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ยิงอาจารย์ 2 คนเสียชีวิต และขับรถหนี กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจพบเจอ แต่ไม่ยอมมอบตัว และใช้ปืนจ่อศีรษะตัวเอง กระทั่งเสียชีวิต ปรากฎว่าจิตแพทย์ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้ออกมาเตือนเรื่องดังกล่าวว่า ไม่ควรกระทำ เพราะเป็นการฉายภาพซ้ำ และเสี่ยงเกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ในระยะยาว

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม  กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ออกหนังสือขอแสดงความชื่นชม ขอบคุณ และสนับสนุน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ต่อแนวทางการนำเสนอข่าวและภาพข่าวความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจสาธารณชน โดยระบุว่า กรณีมีการ “ถ่ายทอดสด” การล้อมจับผู้ต้องหา โดยผู้ต้องหาใช้ปืนจ่อศีรษะตนเอง ผ่านทีวี เฟซบุ๊กไลฟ์ รวมถึงช่องทางสื่อออนไลน์ต่างๆ ซึ่งต่อมา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ออกหนังสือเตือนสื่อมวลชนรายงานข่าวด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะการรายงานสดผ่านกล้องมือถือ (Facebook Live) นั้น กรมสุขภาพจิต โดย อธิบดีกรมสุขภาพจิต คณะผู้บริหาร พร้อมด้วยจิตแพทย์และบุคลากร ขอแสดงความ ชื่นชมและขอขอบคุณสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยที่ตระหนักและเห็นความสำคัญของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับจิตใจของสาธารณชน ซึ่งกรมสุขภาพจิตขอสนับสนุนแนวทางดังกล่าวในการนำเสนอข่าวและภาพข่าวที่สมาคมได้ประกาศแจ้งขอความร่วมมือไปยังเพื่อนสื่อมวลชนร่วมวิชาชีพ

กรมสุขภาพจิต ขอย้ำว่า การเผยแพร่หรือถ่ายทอดสดความรุนแรง โดยเฉพาะภาพการทำร้ายตัวเอง ผ่านสื่อและช่องทางสังคมออนไลน์ ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการส่งต่อความน่ากลัวและฉายภาพความรุนแรงซ้ำ อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ที่ต่างก็ย่อมมีวุฒิภาวะและความเปราะบางทางจิตใจ ที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ยิ่งเป็นการเพิ่มความกดดันให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ รวมทั้งเพิ่มความกดดันให้ผู้ก่อเหตุมากยิ่งขึ้น สื่อมวลชนจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังและคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาวร่วมด้วย

สำหรับสื่อมวลชนสามารถมีบทบาทในการช่วยป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายได้ ดังนี้  1. หลีกเลี่ยงการนำเสนอภาพของผู้ตกอยู่ในสภาพท้อแท้สิ้นหวัง หรือลงรายละเอียดของการฆ่าตัวตายและไม่ควรเสนอข่าวเพื่อความตื่นเต้นเร้าใจ ดราม่า ก่อให้เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ ซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฏกรรมที่มากเกินไป  2. คำนึงถึงการนำเสนอข่าวที่อาจส่งผลต่อความรู้สึกหรือเกิดผลกระทบในทางลบต่อ ญาติและผู้ใกล้ชิด ไม่ล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล 3. ให้ความรู้ สร้างความตระหนัก เสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ด้านการปรับตัวในชีวิต ตลอดจนสร้างกำลังใจกับผู้ที่กำลังรู้สึกท้อแท้ในชีวิต

Advertisement

4. การนำเสนอภาพการทำร้ายตนเองในภาพยนตร์หรือละครควรได้รับคำแนะจากผู้เชี่ยวชาญ และขณะนำเสนอภาพการทำร้ายตนเองควรมีการแจ้งให้ทราบถึงสถานบริการช่วยเหลือผู้คิดฆ่าตัวตายและบริการให้คำปรึกษา และ 5. ดูแลกายและใจของตัวเองให้ดีเพราะการติดตามทำข่าวแต่ละครั้งอาจได้รับความเครียดและความทุกข์ใจได้มาก แม้ว่าจะมีประสบการณ์สูงแล้วก็ตาม จึงอย่าลืมพูดคุย ระบายกับเพื่อนร่วมงาน เพื่อน คนในครอบครัว หรือหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจ

 

13226856_10207620517489088_3390323285823578671_n

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image