ครอบครัว เกรท วรินทร-นิโคลีน รับรางวัลครอบครัวดีเด่น

ครอบครัว เกรท วรินทร-นิโคลีน รับรางวัลครอบครัวดีเด่น

ครอบครัวดีเด่น – เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการเป็นประธานพิธีเปิดงานวันแห่งครอบครัว ประจำปี 2562 และปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “นโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง” ซึ่งมี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และผู้บริหารพม.ต้อนรับ จัดโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ว่า ครอบครัวเป็นหน่วยเล็กที่สุดของสังคม แต่มีความสำคัญยิ่ง เพราะครอบครัวเป็นหน่วยสังคมแรกในการหล่อหลอมสมาชิกให้มีความสมบูรณ์แข็งแรง ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ตั้งแต่การเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนให้การศึกษา ถ่ายทอดความคิด เชิงสร้างสรรค์ ปลูกฝังค่านิยมและการสร้างเจตคติที่ดี เพื่อให้สมาชิกสามารถเติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพของประเทศ ทั้งนี้ ตนอยากเห็นสังคมไทยมีความอบอุ่น อยากเห็นคนที่ทิ้งครอบครัวมาทำงานในเมืองได้กลับไปทำงานและอยู่กับครอบครัวที่บ้านเกิด เพราะเชื่อว่าความสุขที่ลูกจะได้อยู่กับพ่อแม่พร้อมหน้า สำคัญกว่าเรื่องเงินที่ส่งไป

“ขณะนี้ประเทศของเราเกิดปัญหามากมาย เช่น เด็กไอคิวต่ำ ความรุนแรงในครอบครัว คนติดยาเสพติด การหย่าร้าง ฆ่าตัวตาย ตลอดจนภัยออนไลน์ ซึ่งสิ่งที่จะแก้ได้คือ การติดอาวุธทางปัญญาให้เด็กและเยาวชน โดยมีสถาบันครอบครัวเป็นคำตอบที่ดีที่สุด หากครอบครัวสามารถดูแลสมาชิกได้ดี ปัญหาเด็กติดยาเสพติด เยาวชนอาชญากรรม ความรุนแรง ฉะนั้นถึงเวลาแล้วจะต้องสร้างครอบครัวให้เข้มแข็ง” พลเอกฉัตรชัยกล่าว

ภายในงาน พลเอกฉัตรชัยได้มอบโล่เชิดชูเกียรติแก่ครอบครัวร่มเย็นและบุคคลดีเด่นด้านการพัฒนาครอบครัว จำนวนทั้งสิ้น 92 รางวัล อาทิ ครอบครัวศิลปิน ได้แก่ นายวรินทร ปัญหกาญจน์ หรือ เกรท นักแสดงจากช่อง 3 ครอบครัวนักธุรกิจ ได้แก่ นางอมรา พวงชมพู จากบริษัทสยามแฮนดส์ จำกัด เจ้าของเสื้อแบรนด์ดัง “แตงโม” ครอบครัวนักกีฬา ได้แก่ นายศศลักษณ์ ไหประโคน นักฟุตบอลทีมชาติไทย สังกัดสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ครอบครัวพิเศษ ได้แก่ นางสาวพิชาภา ลิมศนุกาญจน์ มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2018

Advertisement

ก่อนรับมอบข้อเสนอมติสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ซึ่งเสนอ 3 ข้อ ได้แก่ 1.การสื่อสารในครอบครัวเชื่อมสัมพันธ์ทุกช่วงวัย อาทิ ให้จัดทำพัฒนาหลักสูตร คู่มือการให้ความรู้ องค์ความรู้ นวัตกรรม และสื่อการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมทักษะการสื่อสารที่เสริมสร้างสัมพันธภาพครอบครัว ที่เหมาะกับวิถีชีวิตครอบครัว ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยี ผ่านช่องทางที่หลากหลายและสามารถเข้าถึงครอบครัวทุกลักษณะและทุกช่วงวัย


2.เรื่องเพศคุยได้ในครอบครัว อาทิ ให้มีการสอนเกี่ยวกับเพศวิถี เพศสภาพ สิทธิทางเพศ และโครงสร้างอำนาจรูปแบบต่างๆ รวมถึงอำนาจที่มากับเพศสภาพ เพื่อเป็นการเตรียม องค์ความรู้ที่เหมาะสมให้แก่บุคลากรครูรวมทั้งปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอนให้เน้นการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมที่นักเรียนจะสามารถคิดวิเคราะห์และตั้งคำถามได้อย่างสร้างสรรค์ และ

3.ครอบครัวรู้เท่าทันสื่อ อาทิ ให้มีมาตรการควบคุมดูแลการใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียน จัดให้มีการอบรมให้ความรู้ผู้ปกครองเรื่องรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงมีการทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้ปกครองในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image