พม.ฝากนักสังคมสงเคราะห์ ‘เท่าทัน’ การเปลี่ยนแปลงสังคม

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในการเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์ ครั้งที่ 11 ประจำปี 2562 ระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 3 เนื่องในวันสังคมสงเคราะห์โลก ภายใต้หัวข้อ “การเสริมสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์” ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก ว่า

พม.ได้จัดงานวันสังคมสงเคราะห์โลกตั้งแต่ ปี 2551 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นสำหรับนักสังคมสงเคราะห์และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับปี 2562 ได้เน้นประเด็นการเสริมสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เป็นประเด็นสถานการณ์ทางสังคมที่จำเป็นต้องแสวงหาทิศทางการพัฒนาร่วมกัน โดย นักสังคมสงเคราะห์จำเป็นต้องตระหนักถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสังคม อีกทั้งต้องพยายามส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์อย่างมีจุดมุ่งหมาย โดยส่งเสริมให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการช่วยเหลือทางสังคม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการฟื้นฟู รักษา และเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของบุคคล ครอบครัว กลุ่มสังคม องค์กร และชุมชน อย่างยั่งยืน

นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า นักสังคมสงเคราะห์เป็นกลไกสำคัญในการทำงานทั้งการปกป้อง คุ้มครอง แก้ปัญหาสังคมในทุกมิติ เป็นบุคลากรที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องมีในทุกกระทรวงไม่เฉพาะเพียง พม. โดยเฉพาะในชุมชนท้องถิ่นที่ห่างไกล เพื่อเป็นผู้ประสานให้กลุ่มคนเปราะบางหรือกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทางสังคมที่มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการล่วงละเมิด การใช้ความรุนแรง ผู้ติดยาเสพติด ได้รับการช่วยเหลือดูแลและเข้าถึงสิทธิบริการขั้นพื้นฐานต่างๆ จากข้อมูลสัดส่วนนักสังคมสงเคราะห์ในประเทศไทยอยู่ที่ 4.46 ต่อประชากร 100 คน ขณะที่จีนอยู่ที่ 18 ต่อ 100 เห็นชัดว่าประเทศไทยยังมีนักสังคมสงเคราะห์ไม่เพียงพอ ทำอย่างไรจะเพิ่มสัดส่วนให้มากขึ้น รวมทั้งทำอย่างไรให้ปัญหาในระดับชุมชนท้องถิ่นห่างไกลได้รับการหยิบยกแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม เพราะหลายกรณีต้องทนทุกข์แจ้งให้ทราบแล้วกลับถูกเพิกเฉยจนไม่อยากขอความช่วยเหลืออีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image