จิตแพทย์ ชี้ “ตุ๊กตาลูกเทพ” มาไว-ไปไว แนะ นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกระแสตุ๊กตาลูกเทพ ว่า กระแสต่างๆ ในประเทศไทยมักจะมาไวไปไว เชื่อว่าสักวันหนึ่งตุ๊กตาลูกเทพก็คงจะเป็นเหมือนตุ๊กตาบลายท์และเฟอร์บี้ ที่เป็นกระแสฮิตอยู่ช่วงหนึ่งแล้วก็หายไป อย่างไรก็ตาม ตุ๊กตาลูกเทพนั้นมีลักษณะเป็น “ตุ๊กตาเสมือนมนุษย์ (Reborn Doll)” วันหนึ่งเมื่อหมดกระแส และไม่มีการพูดถึงก็น่าเสียดาย เพราะจริงๆ สามารถนำมาใช้ประโยชน์อื่นๆได้ โดยเฉพาะทางการแพทย์ เช่น จิตแพทย์และกุมารแพทย์นำมาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารกับเด็ก หรือสูตินรีแพทย์นำตุ๊กตาเสมือนเด็กในการสอนคุณแม่มือใหม่ แต่ที่น่าสนใจคือ มีการนำตุ๊กตาเสมือนมนุษย์นี้ช่วยบำบัดผู้ป่วยสมองเสื่อม ซึ่งเพิ่งมานิยมในแถบยุโรปช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ อาการสมองเสื่อม (Dementia) เป็นการถดถอยทางสมองที่พบบ่อยมากในผู้สูงอายุ การรักษาประคับประคองนั้นมีหลากหลายวิธี ทั้งการใช้ยา และการบำบัดรูปแบบต่างๆ และหนึ่งในวิธีทางเลือกนั้นก็คือ การบำบัดด้วยตุ๊กตาเสมือนมนุษย์ (Reborn doll therapy) ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาตุ๊กตาเสมือนมนุษย์ถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นใน care home ของประเทศอังกฤษ ซึ่งคล้ายๆ กับบ้านพักคนชรา

“การบำบัดด้วยตุ๊กตาเสมือนมนุษย์นั้น ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ตุ๊กตาเสมือนมนุษย์จะช่วยกระตุ้นให้ผู้สูงวัยที่มีอาการสมองเสื่อมมีการสื่อสารมากขึ้นผ่านตุ๊กตาที่มีความซับซ้อนน้อยกว่า แม้งานวิจัยเกี่ยวกับการใช้ตุ๊กตาเสมือนมนุษย์ยังมีอยู่น้อย แต่เสียงตอบรับจาก care home จำนวนมากเป็นไปในเชิงบวก ยกตัวอย่าง รายงานจาก care home ในเชสเตอร์ฟิลด์ ประเทศอังกฤษชี้ว่า การบำบัดด้วยตุ๊กตาเสมือนมนุษย์ช่วยลดการใช้ยาจิตเวชลงจาก 92% เหลือ 28% นอกจากนี้ ยังมีรายงานจากเมืองแมนเชสเตอร์ว่า ตุ๊กตาช่วยทำให้อารมณ์ของผู้ป่วยและครอบครัวดีขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่า การบำบัดด้วยตุ๊กตาเสมือนมนุษย์ช่วยทำให้ผู้ป่วยสงบมากขึ้น ลดความกระสับกระส่าย และเพิ่มความสามารถในการสื่อสารให้มากขึ้นอีกด้วย โดยเชื่อว่าประโยชน์เหล่านี้เกิดจากการที่ผู้สูงวัยเหล่านั้นได้ย้อนความทรงจำไปถึงช่วงที่ตนเองยังทำหน้าที่เป็นพ่อแม่อยู่ และได้เป็นภาพสะท้อนกลับมาให้รู้สึกถึงคุณค่าและความหมายของชีวิตตน” นพ.วรตม์ กล่าว และว่า ทั้งนี้ จากการสำรวจสุขภาวะผู้สูงอายุไทยปี 2556 โดยกรมอนามัย พบว่า ปัจจุบันมีผู้สูงอายุสมองเสื่อมกว่า 4 แสนคน และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image