ที่มา | มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | รชยา นัทธี |
ตลอดทั้งปี 2558 ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นในแวดวงศาสนาและวัฒนธรรม มีทั้งข่าวแนวดราม่า แนวหวานอมขมกลืน และแนวชื่นมื่น ปะปนกันไป โดยเฉพาะข่าวในแวดวงการสงฆ์ ที่มีเซอร์ไพรส์แบบไม่ทันตั้งตัว เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ที่มี นายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน เพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางในการปฏิรูปวงการพระพุทธศาสนา
ที่ฮือฮาและทำให้คณะกรรมการชุดนี้เป็นที่รู้จักคือกรณีนายไพบูลย์ออกมาให้สัมภาษณ์รื้อฟื้นเกี่ยวกับพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่มีพระราชวินิจฉัยกรณีพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย แต่ที่ทำให้พระสงฆ์ส่วนหนึ่งออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านคณะกรรมการชุดนี้อย่างหนัก ถึงขั้นปลุกมวลชนพระทั่วประเทศให้ออกมาชุมนุมกันคือประเด็นที่คณะกรรมการเสนอให้ปฏิรูปวงการสงฆ์ โดยให้วัดและพระต้องถูกตรวจสอบทรัพย์สิน การเวียนเจ้าอาวาสทุก 5 ปี นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่เสนอให้รื้อฟื้นการบวชภิกษุณีในประเทศไทย ล่าสุด พระสงฆ์บางกลุ่มได้ออกมาเคลื่อนไหวให้บัญญัติ “พุทธศาสนา” เป็นศาสนาประจำชาติ ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย
ปิดท้ายข่าวในแวดวงพระพุทธศาสนาที่สร้างความเศร้าโศกเสียใจอย่างสุดซึ้งให้กับพุทธศาสนิกชนทั่วโลกคืองานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระสังฆราชองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพุทธศาสนิกชนทั่วโลกได้ร่วมส่งเสด็จสมเด็จพระสังฆราช
ส่วนข่าวคราวในแวดวงวัฒนธรรม แม้ดูเหมือนเงียบๆ แต่ก็มีเรื่องให้ตื่นเต้นเป็นระยะๆ แต่ที่ทำเอา “งานเข้า” คือกรณีที่ชาวชุมชนวัดกัลยาณ์ ร้องเรียนไปยังกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ให้ดำเนินการกับวัดกัลยาณมิตร กรณีที่ทางวัดรื้อทำลายโบราณสถานอายุกว่า 100 ปี ภายในวัดหลายรายการ ทำให้ นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากรในช่วงนั้น ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างใหม่ 2 หลัง ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่าง นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากรคนปัจจุบันดำเนินการ
อีกเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กรณีที่ ศธ.คลอดหนังสือ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” ที่เขียนโดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร วธ. ภายใต้การมอบหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้จัดพิมพ์หนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทย ที่ทรงทำคุณประโยชน์ไว้ในแผ่นดิน รวมถึงความเป็นมาของประเทศไทย วัฒนธรรมประเพณีของไทย ซึ่งถูกวิพากษ์จากนักวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าเนื้อหาส่งผลให้เกิดการปรองดองได้ยาก โดยเฉพาะที่เขียนโจมตีพรรคการเมืองบางพรรค โจมตีนายกรัฐมนตรี และชื่นชมผู้นำประเทศบางคน ทำให้หนังสือมีความลำเอียง
อย่างไรก็ตาม ลองมาฟังเสียงสะท้อนจากนักวิชาการด้านศาสนาและวัฒนธรรม ที่จะมาสะท้อนถึงปัญหาที่ผ่านมา และทิศทางที่จะเป็นไปในปี 2559 อย่าง นายบรรจบ บรรณรุจิ นักวิชาการด้านศาสนา กล่าวถึงภาพรวมวงการศาสนาตลอดปี 2558 ว่า ถือเป็นครั้งแรกที่วงการพุทธศาสนาได้รับผลกระทบจากมุมมองของสังคมโดยตรง อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย กรณีที่คณะกรรมการปฏิรูปพุทธศาสนาได้เสนอทรรศนะ ซึ่งถือเป็นข้อเสนอจากสังคมที่ตรงและแรง อาทิ ประเด็นที่พูดพาดพิงถึงพระสงฆ์ว่าทุกวันนี้ใช้ชีวิตเอาเปรียบสังคม หรือประเด็นเรื่องการใช้เงินใช้ทองของพระสงฆ์ในสังคม เป็นต้น
มองว่าประเด็นสำคัญคือ เรื่องการมองถึงการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ประจาน หรือร้องแรกแหกกระเชอ รวมทั้งคณะกรรมการปฏิรูปพุทธศาสนาควรต้องมอง 2 ด้าน นอกจากด้านผลกระทบต่อสังคม ต้องมองถึงด้านคุณูปการของพระสงฆ์ต่อสังคมด้วย เพราะพระที่ทำประโยชน์ให้สังคมก็มีมากเช่นกัน ส่วนการเรียกร้องบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติจะทำได้หรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งถือเป็นการประกาศความเป็นเจ้าของพื้นที่ แต่ไม่ได้รุกรานศาสนาอื่น และหากพิจารณาอย่างเป็นธรรมแล้ว บางประเทศเขาประกาศเป็นรัฐศาสนา เช่น มาเลเซีย เป็นต้น หากบัญญัติจริง อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอย่างมาก ขณะเดียวกันถ้าพุทธศาสนาอยู่ได้ ทุกสถาบันก็อยู่รอด ฉะนั้น จึงต้องเตรียมการเรื่องนี้
“ส่วนการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ตามธรรมเนียมปฏิบัติ มหาเถรสมาคม (มส.) ต้องเสนอรายนามสมเด็จพระราชาคณะที่มีสมณศักดิ์และอาวุโสสูงสุด เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงพระวินิจฉัย ซึ่งพระองค์ไม่ได้ทรงก้าวก่าย เมื่อคณะสงฆ์เสนอชื่อมาก็ทรงลงพระปรมาภิไธยตามนั้น” นายบรรจบกล่าว
การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี จะส่งผลดีกับพระพุทธศาสนาหรือไม่ เมื่อมีการไหลบ่าเข้ามาของศาสนาต่างๆ โดยที่ชาวพุทธยังไม่ได้ตั้งหลัก เพราะไทยไม่จำกัดเรื่องของศาสนาที่เข้ามาเผยแผ่
ท้ายนี้ ในวงการศาสนาควรปรับปรุงหลายด้าน อาทิ เรื่องของวิถีชีวิตพระ ซึ่งขณะนี้ห่างไกลพระธรรมวินัย แต่กลับอยู่ใกล้เทคโนโลยี การพิจารณาความคดีของพระสงฆ์ จะยึดตามกฎหมายทางโลกมากกว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ผมคิดว่าควรนำพระธรรมวินัยมาพิจารณาเบื้องต้น แล้วใช้กฎหมายทางโลกพิจารณาอีกที
พระราชญาณกวี (สุวิทย์ ปิยวิชฺโช) หรือปิยโสภณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก กล่าวว่า ภาพรวมข่าววงการศาสนาที่ผ่านมา ทำให้เกิดศรัทธาและเสื่อมศรัทธา คนไทยมักคิดว่าพระพุทธศาสนา หมายถึง พระ-วัด แต่แท้จริงแล้วพระพุทธศาสนาคือ บ้าน วัด โรงเรียน คือสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเราทั้งสิ้น น่าสนใจว่าสังคมไทยขณะนี้บกพร่องเรื่องศีลธรรม และสิ่งที่สะท้อนให้เห็นได้ดีคือสื่อต่างๆ ที่เสนอให้เห็นกันทุกวัน ตลอดปี 2558 กิจกรรมของสงฆ์ที่รณรงค์ให้ประชาชนรักษาศีล 5 เป็นภาพรวมข่าวที่ดี เพราะเป็นการยืนยันว่าถ้าคนเราประพฤติปฏิบัติตามศีล 5 จะเกิดประโยชน์มากมายกับตนเอง สังคม และประเทศชาติ เพราะเป็นหลักประกันที่สร้างคนให้มีคุณภาพ โดยที่ผู้บริหารไม่ต้องลงทุนอะไร
ส่วนที่พระสงฆ์ออกมาเรียกร้องให้บัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติอาตมามองว่าสังคมจะเดินได้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ส่วนหน้าที่ตรงนี้ถือเป็นเรื่องของ กรธ.ซึ่งคิดว่าในทางปฏิบัติ ประธาน กรธ.ควรมาหาคณะสงฆ์ เพื่อมารับฟังความคิดเห็นว่าต้องแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไรในการพิจารณาร่วมกัน ดีกว่าที่จะปล่อยให้ประชาชนขัดแย้ง หรือเดินขบวนประท้วง อีกเรื่องที่น่าเป็นห่วง บ้านเมืองทุกวันนี้มีลิขสิทธิ์หมดแล้วทุกเรื่อง ศาสนาก็เช่นกัน ควรมีลิขสิทธิ์ให้ชัดเจน ที่ผ่านมาชัดเจนทางพฤตินัย ไม่ใช่นิตินัย มาถึงจุดนี้ต้องมียี่ห้อ จดลิขสิทธิ์ตามยุคสมัย แต่ไม่ได้ไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพของความเป็นชาติ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก
“แนวโน้มสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ตามธรรมเนียมปฏิบัติ เป็นเรื่องของพระราชอัธยาศัย พระราชศรัทธาของพระมหากษัตริย์ ที่จะทรงเลือกตามความเหมาะสม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะไม่แต่งตั้งเลยก็ได้ สิ่งที่ควร ปรับ ลด เพิ่ม ในวงการสงฆ์ มองว่าควรมีกฎหมายรองรับภิกษุณี รวมทั้งกฎหมายรองรับองค์กรพุทธบริษัท อุบาสก อุบาสิกา องค์กรพุทธสมาคม และองค์กรพุทธบริษัทที่ชัดเจน คิดว่าหากมีน่าจะเป็นประโยชน์” พระราชญาณกวีกล่าว
ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปฯ กล่าวว่า ภาพรวมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการศาสนาตลอดปี 2558 เริ่มจากต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับปัญหาของการเดินธุดงค์ธรรมชัยของวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาด้านการจราจรอย่างหนัก มีการสร้างภาพความอลังการกลางเมืองใหญ่ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการนำศาสนามาบิดเบือนเป็นพุทธพาณิชย์ จากนั้นเดือนกุมภาพันธ์ สปช.ได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปศาสนา ให้ศึกษาปัญหาเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของวัดและพระสงฆ์ รวมถึงพระสงฆ์ที่ไม่ปฏิบัติตามพระวินัย ซึ่งโยงไปถึงกรณีของพระธัมมชโย ที่ฝืนพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชที่ให้พระธัมมชโยปาราชิกตั้งแต่ปี 2542 โดยมี มส.คุ้มครอง ขณะที่หลายภาคส่วนเรียกร้องให้ปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา กลุ่มสงฆ์ได้ออกมาเคลื่อนไหวให้คณะกรรมการปฏิรูปศาสนายุติข้อเสนอ 4 ด้านในการปฏิรูป และยุติบทบาทของคณะกรรมการทั้งหมด ซึ่งสงฆ์กลุ่มนี้ออกมาปกป้องพระธัมมชโยและ มส.
“ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มีบางข้อบิดเบือนกฎพระธรรมวินัย โดยให้คณะสงฆ์อยู่ภายใต้การปกครองที่ไม่มีสิทธิเสรีภาพ ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดูแลภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าว จึงนำมาสู่ประเด็นของการศึกษาของคณะกรรมการปฏิรูปศาสนา ว่าวงการศาสนาปัจจุบันนี้ได้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริงแล้วหรือยัง จากการพิจารณามีการเบี่ยงเบนไปแล้วทั้งสิ้น ปัจจุบันเป็นเพียงการนำพระพุทธศาสนามาหาประโยชน์ เพื่อให้ตนเองได้มาซึ่งทรัพย์สินและลาภยศ คนที่บวชเป็นพระสงฆ์ภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าว เอื้อต่อการแสวงหาลาภสักการะทั้งสิ้น นี่คือวิกฤตของความศรัทธาที่จะเกิดขึ้น หากปล่อยไว้จะแก้ไขปัญหาไม่ได้ และประชาชนจะเกิดความเสื่อมศรัทธาในที่สุด” นายไพบูลย์กล่าว
ขณะที่ศึกษาเกี่ยวกับประเด็นศาสนา มีผู้มาร้องเรียนเกี่ยวกับพระสงฆ์หลายเรื่อง อันดับ 1 คือพระสงฆ์สะสมทรัพย์ แสวงหาความร่ำรวยจากพุทธพาณิชย์ อันดับ 2 การปกครองคณะสงฆ์ที่ไม่เป็นธรรม เอื้อประโยชน์ให้เฉพาะพวกของตน เช่น การโยกย้ายตำแหน่งเพื่อผลประโยชน์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่กิจของสงฆ์ กระบวนการเครือข่ายของพระสงฆ์ที่ประพฤติตนแบบนี้ไม่ต่างจากนักการเมืองที่ไม่ดี ส่วนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ไม่ควรไปอยู่ภายใต้การควบคุมของ มส.เพราะถ้า 2 องค์กรนี้มาผนวกกัน จะกลายเป็นภาพที่น่ากลัวมาก ยกตัวอย่าง คนก่อนบวชและหลังบวช ก่อนบวชเป็นประชาชนมีสิทธิเสรีภาพโดยสมบูรณ์ ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมาย แต่เมื่อบวชเข้าไปเป็นพระสงฆ์ จะหมดสิ้นเสรีภาพทันที ต้องอยู่ภายใต้การปกครองที่มีลำดับชั้นการปกครองที่ไม่เหมาะสม ซึ่งต่างจากหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ประกาศให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ แต่คณะสงฆ์ไทยกลับไปทำลายหลักการสำคัญของพระพุทธองค์
ส่วนเรื่อง “ภิกษุณี” มีการผลักดันให้เกิดกฎหมายคุ้มครองสิทธิสตรีที่ต้องการบวช มส.กลับออกมติเพื่อขัดขวาง ทั้งที่ในพุทธประวัติบัญญัติให้สตรีบวชเป็นภิกษุณีได้ ซึ่งขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนโดยสิ้นเชิง
“อย่างไรก็ตาม แง่มุมดีๆ ของศาสนายังพอมีอยู่บ้าง เช่น การนำซีรีส์พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก มาเผยแพร่ในสื่อ ทำให้พุทธศาสนิกชนหลายคนเห็นข้อวัตรปฏิบัติของพระพุทธเจ้า และเห็นถึงพระธรรมวินัยในสมัยพุทธกาลที่แตกต่างจากสมัยนี้ ผมเชื่อว่ามีหลายองค์กรที่ห่วงใยว่าศาสนาจะเสื่อม และต้องออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้พระสงฆ์หันมาศึกษาพระธรรมวินัยมากขึ้น เชื่อว่าในปี 2559 นี้ ฝ่ายต่างๆ จะพิจารณาถึงแก่นแท้ของพระธรรมวินัย และนำมาปฏิบัติ เพื่อจะเปรียบเทียบกับกระบวนการเดิมของสงฆ์ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีแน่นอน” นายไพบูลย์กล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ นายรุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวถึงภาพรวมของการขับเคลื่อนวัฒนธรรมว่า โดยหลักๆ วธ.เข้าใจวัฒนธรรมมากน้อยแค่ไหน มีความหมายแท้จริงอย่างไร วธ.มองแต่สิ่งดีงาม แสดงออกแต่สิ่งดีงาม ในนามของหน่วยงานรัฐ เป็นกระทรวงอีเวนต์แห่งชาติ แต่ไม่มีสาระอะไร หรือมีแก่นแท้อะไรหรือไม่ นอกจากนี้ยังไม่เคยทำความเข้าใจ ไม่เคยทำให้สังคมไทยรับรู้ว่าสังคมไทยมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่กลับพยายามลบวัฒนธรรมอื่นให้หายไป ส่วนเรื่องที่ควรปรับปรุงคือการสื่อสาร ทำความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจน กรณีการรื้อถอนโบราณสถานภายในวัดกัลยาณมิตร หรือกรณีของการจัดงานวันลอยกระทง ไม่มีข้อมูลที่แน่นพอ คือไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนในการสื่อสารกับสังคม
“เรื่องการก้าวเข้าสู่เออีซีนั้น วธ.เคยทำความเข้าใจเรื่องอื่นๆ หรือไม่ นอกเหนือจากที่เผยแพร่ นำเสนอแค่บางเรื่องในโรงเรียน เช่น การกล่าวคำทักทายต่างๆ ซึ่งมีแค่นั้น ไม่ได้นำเสนออย่างอื่น โดยเฉพาะเรื่องของการนำเสนอวัฒนธรรมร่วมของอาเซียนคืออะไร หรือเรื่องผลกระทบของการเปิดประเทศ ยังไม่เคยขยายความรู้ให้ประชาชน ที่สำคัญควรเลิกพูดเรื่องของประวัติศาสตร์บาดหมาง แต่ควรหันมาเสนอ ทำความเข้าใจ และสื่อสารกับสังคม ในทิศทางของประวัติศาสตร์ร่วมมากกว่า” นายรุ่งโรจน์กล่าว
ก็ต้องติดตามกันว่า ปี 2559 ทิศทางการขับเคลื่อนงานด้านศาสนาและงานวัฒนธรรม จะเป็นไปในทิศทางใด!!