กฎเหล็ก ม.17 ‘กรมทะเล’เอาจริงให้อาหารปลาปรับ1แสนคุก1ปี

กรณีที่นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มอบหมายให้นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและการพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน เข้าไปสำรวจเก็บข้อมูลพื้นที่เกาะไม้ท่อน และเกาะราชา จ.ภูเก็ต เพื่อให้ ทช.เข้าไปจัดการแก้ปัญหาทรัพยากรในพื้นที่ดังกล่าวที่ถูกทำลายเสียหายนั้น

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม นายปิ่นสักก์ให้สัมภาษณ์ว่า อยู่ระหว่างสำรวจและเก็บข้อมูล คาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะถึงจะเรียบร้อยทั้งหมด การสำรวจจะเน้นเรื่องสภาพปะการังที่เป็นอยู่ โดยเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ที่พบว่าบริเวณนี้มีปะการังหลากหลายชนิด มีความสมบูรณ์ 60-80% แต่ปัจจุบันเหลือที่มีความสมบูรณ์จริงๆ แค่ 20% เท่านั้น เหตุสำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากปรากฏการณ์ฟอกขาว ตั้งแต่ปี 2553 บวกกับผลพวงจากการท่องเที่ยวทางทะเลที่ผิดวิธี มีการเหยียบย่ำทำลาย ทั้งที่รู้และรู้เท่าไม่ถึงการณ์

“ขอทำความเข้าใจว่าหลักการของเราแล้ว การเข้าไปจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องปิด หรือไม่ปิดเกาะอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่จะเน้นเรื่องการเข้าไปจัดการที่เหมาะสม ตามสภาพเศรษฐกิจ สังคม และฐานทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรอย่างมีความยั่งยืนมากกว่าการจะประกาศปิดหรือไม่ปิดเกาะ การจัดการไม่จำเป็นต้องปิดเสมอไป เช่น ก่อนหน้านี้เราเคยใช้วิธีจัดการพื้นที่ท่องเที่ยวอนุรักษ์ โดยจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวต่อวัน แต่ปัจจุบันเราพบข้อมูลใหม่ว่าคุณภาพของนักท่องเที่ยวแต่ละคนไม่เหมือนกัน คน 1 คน อาจมีพฤติกรรมที่แย่กว่าคน 10 คนก็ได้ การเข้าไปจัดการจึงต้องดูอย่างรอบด้าน ต้องใช้เวลา” นายปิ่นสักก์กล่าว

ด้าน ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การที่อธิบดี ทช.ใช้อำนาจตามมาตรา 17 ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 มีประกาศออกมา 2 ชุด เพื่อควบคุมพื้นที่เกาะ คือชุดแรกว่าด้วยเรื่องเกาะไข่ ที่ค่อนข้างเละเทะ ซึ่งที่เกาะไข่นี้ เข้าไปดำเนินการจัดการได้ระดับหนึ่งแล้ว ส่วนอีกชุดคือมาจากเรื่องปะการังฟอกขาว

Advertisement

ผศ.ธรณ์กล่าวว่า มีทั้งหมด 7 เกาะ เช่น เกาะไม้ท่อน เกาะราชา เกาะเหลื่อม เกาะไข่ เป็นต้น ซึ่งเกาะที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวจริงๆ มีแค่ 2 เกาะคือ เกาะไม้ท่อนกับเกาะราชา เท่านั้น โดยปัญหาปะการังฟอกขาวเวลานี้ต้องยอมรับว่าหนักหนาเอาการ เช่น ที่เกาะราชานั้น มีทั้งหมด 7 อ่าว พบว่ามีปะการังฟอกขาวมากถึง 6 อ่าว แต่ละอ่าวมีความรุนแรงของการฟอกขาวแตกต่างกัน มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุม จัดการทุกอย่างในพื้นที่ แต่ยังไม่ถึงขั้นปิดเกาะ

ผศ.ธรณ์กล่าวว่า มีหลายคนเข้าใจผิดว่าการใช้มาตรา 17 นั้น เป็นเรื่องการเข้าไปปราบปรามผู้กระทำผิด ทำให้ทรัพยากรทางทะเลเสียหายร้ายแรง ความจริงแล้ว มาตรา 17 เป็นกิจกรรมที่ห้ามทำกันตามปกติ เช่น ห้ามทิ้งน้ำเสียลงทะเล ห้ามทิ้งขยะ ห้ามให้อาหารปลา เป็นต้น แต่จะมีโทษรุนแรงและชัดเจน เช่น ก่อนหน้านี้หากมีการให้อาหารปลาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล เจ้าหน้าที่อุทยานฯจะมีอำนาจสั่งปรับได้ครั้งละ 500-1,000 บาท แล้วก็จบ

“แต่ตามมาตรา 17 ที่ ทช.ใช้นั้น หากพื้นที่นั้นไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล เดิมไม่มีความชัดเจนว่ามีความผิดหรือไม่ แต่ตามมาตรา 17 ถึงจะอยู่นอกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล เจ้าหน้าที่ ทช.ไม่มีอำนาจปรับ แต่สามารถจับตัวบุคคลนั้น แล้วนำตัวไปดำเนินคดีที่โรงพัก ต้องยื่นประกันตัวและขึ้นศาล ซึ่งโทษสูงสุดของการให้อาหารปลาในทะเลคือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำและปรับ” ผศ.ธรณ์กล่าว และว่า หลังมีข่าวนี้ออกมา ทั้งผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวเองต่างมีความตื่นตัวในเรื่องนี้กันมาก ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี

Advertisement

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับคำสั่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เรื่องมาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการระงับความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรปะการัง บริเวณ 7 พื้นที่ ได้แก่ 1.เกาะมันใน จ.ระยอง 2.เกาะทะลุ จ.ประจวบคีรีขันธ์ 3.เกาะเหลื่อม จ.ประจวบคีรีขันธ์ 4.เกาะไข่ จ.ชุมพร 5.เกาะราชาใหญ่ จ.ภูเก็ต 6.แหลมพันวา จ.ภูเก็ต และ 7.เกาะไม้ท่อน จ.ภูเก็ต

ทั้งนี้ เนื้อหาคำสั่งระบุว่า ด้วยปัจจุบันอุณหภูมิน้ำทะเลฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันมีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติจากการสำรวจพบว่าปะการังฟอกขาวใน 7 พื้นที่ ได้แก่ 1.เกาะมันใน 2.เกาะทะลุ 3.เกาะเหลื่อม 4.เกาะไข่ 5.เกาะราชาใหญ่ 6.แหลมพันวา และ 7.เกาะไม้ท่อน ปะการังที่ฟอกขาวมีแนวโน้มจะตายลงในเวลา 1 เดือน ขึ้นอยู่กับชนิด พันธุกรรมของปะการัง สภาพแวดล้อม และการรบกวนจากมนุษย์ หากปะการังตายลงจะส่งผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในทะเลไทย วิถีชีวิตชุมชนชายฝั่งการท่องเที่ยวทางทะเล ปัจจุบันพบว่ายังมีกิจกรรมของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อปะการังในบริเวณดังกล่าว ทั้งการท่องเที่ยวดำน้ำ การประมง การทิ้งมลพิษและขยะทะเล การเหยียบย่ำปะการัง ตามหลักทางวิชาการในช่วงที่วิกฤตของปะการังนี้ กิจกรรมดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อปะการัง

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 ประกอบมาตรา 3 และ มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ประกอบมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงมีคำสั่งในการกำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อระงับความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรปะการัง บริเวณ 7 พื้นที่ ดังนี้ 1.ห้ามจอดเรือโดยการทิ้งสมอเรือบริเวณแนวปะการัง 2.ห้ามทิ้งขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย มลพิษ ลงในทะเล ที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพน้ำทะเลอันจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อปะการัง 3.ห้ามการขุดลอกร่องน้ำในแนวปะการัง

4.ห้ามการกระทำกิจกรรมใดๆ ที่ก่อให้เกิดตะกอนลงสู่แนวปะการังอันจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อปะการัง 5.ห้ามค้นหา ล่อ จับได้มา เก็บสัตว์น้ำ หรือการกระทำใดๆ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อล่อจับได้มา หรือเก็บสัตว์น้ำในบริเวณแนวปะการัง 6.ห้ามการให้อาหารปลาและสัตว์น้ำในแนวปะการัง 7.ห้ามการเดินเหยียบย่ำปะการัง 8.ห้ามการเก็บหรือทำลายปะการัง เว้นแต่การกระทำเพื่อการศึกษาวิจัยทางวิชาการ 9.บุคคล หรือผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวดำน้ำตื้นจะต้องไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการัง

10.ผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวดำน้ำลึก ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวจากสำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ และจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและหลักการของสถาบันการเรียนการสอนดำน้ำสากล 11.ผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามตามคำสั่งนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 12.ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินการตามคำสั่งนี้ 13.คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และมีระยะเวลาบังคับใช้จนกว่าสถานการณ์ปะการังฟอกขาวจะกลับสู่สภาวะปกติ และความเสียหายระงับสิ้นไป สั่ง ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2559

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image