เปิด ‘กฎหมายครอบครัว’ ฉบับใหม่ มิติใหม่ใส่ใจครอบครัว-เหยื่อความรุนแรง

ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวของไทยมีมายาวนาน เคยเชื่อกันว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว “ความในไม่ควรนำออก” นานวันเข้าถูกทำร้ายจนทนไม่ไหว ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ทำเพียงเจรจาไกล่เกลี่ย ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้หญิง ทั้งในบทบาทภรรยา ลูกแท้ๆ ลูกเลี้ยง จึงต้องจำทุกข์ทนมาตลอด หลายคนลงเอยด้วยการเสียชีวิต บ้างก็เป็นผู้กระทำกลับจนสามีเสียชีวิตเสียเอง

กระทั่งมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวจึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย!

หากมีการแจ้งเหตุเข้ามา เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องสอบสวนดำเนินคดี หากศาลพิจารณาว่าผิดจริง ผู้กระทำต้องถูกลงโทษ ผู้เสียหายต้องได้รับการคุ้มครองเยียวยา นับเป็นเวลา 12 ปีที่ พ.ร.บ.คุ้มครองความรุนแรงฯ ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยเด็กและผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อ

แต่ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ยังมีหลายบทหลายตอนของกฎหมายที่มี “ช่องโหว่” และ “อุปสรรค” ในการปฏิบัติ จึงเป็นที่มาของการยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. … ขึ้นใหม่ เพื่อใช้เป็นกลไกในการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

Advertisement

ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ใน 90 วันหลังประกาศ

แต่ก่อนที่กฎหมายจะถูกตราออกมาใช้อย่างเป็นทางการ มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีวิชาการ “เครือข่ายวิชาการครอบครัวศึกษา” ณ โรงแรมปรินซ์ตัน สวีส ดินแดง กรุงเทพฯ เปิด “กฎหมายครอบครัว” ฉบับใหม่ ที่มีมิติใหม่ใส่ใจครอบครัว และเหยื่อความรุนแรง

Advertisement
เลิศปัญญา บูรณบัณฑิต

นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรม สค.กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้มี 7 หมวด 47 มาตรา และบทเฉพาะกาล สาระหลักคือ การอุดช่องโหว่และอุปสรรคของกฎหมายปัจจุบัน อย่างการยกเลิกความผิดฐานการกระทำความรุนแรงในครอบครัวอันยอมความได้ เพื่อมุ่งคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง รวมถึงเพิ่มกลไกระดับชาติ ด้วยคณะกรรมการส่งเสริมพัฒนาและคุ้มครองครอบครัว ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพิ่มกลไกระดับจังหวัด ด้วยศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว และสร้างมาตรฐานกลไกระดับชุมชน กับศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน ที่ปัจจุบันมีอยู่แล้ว 7,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ เพื่อการทำงานที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ต่อไปนี้จะไม่ต้องรอให้ผู้เสียหายมาแจ้งความร้องทุกข์ก่อนถึงจะเข้าไปช่วยเหลือคุ้มครองได้ ขอเพียงมีเบาะแสแจ้งเข้ามา พนักงานสอบสวนหรือตำรวจสามารถดำเนินคดีอาญาผู้กระทำได้ทันที ขณะที่หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวในที่นี้คือพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) สามารถออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้ 48 ชั่วโมง ทั้งการเข้าไปคุ้มครองผู้เสียหายที่อาจเกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือจิตใจ และสั่งห้ามผู้กระทำเข้าใกล้หรือคุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ผู้เสียหาย”

กฎหมายดังกล่าวยังระบุถึงมิติใหม่อื่นๆ อาทิ คุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลการกระทำความรุนแรงในครอบครัวโดยสุจริต ไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย ให้สิทธิพิเศษต่อผู้กระทำความรุนแรง อันเนื่องมาจากตนเองถูกกระทำความรุนแรงซ้ำกันอย่างต่อเนื่องมาก่อน เช่น คดีภรรยาฆ่าสามี เพื่อให้ศาลพิจารณาคดีอาญาลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีผลย้อนหลังไปยังคดีเก่าๆ ที่พิจารณาถึงที่สุดแล้ว สามารถยื่นต่อศาลไต่สวนพิจารณาแก้ไขโทษใหม่ได้ ขณะที่ผู้กระทำความรุนแรงจะต้องขึ้นทั้ง 2 ศาล คือศาลอาญาในความผิดคดีอาญา และศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งจะต้องรับโทษพร้อมทั้งปรับพฤติกรรม เช่น การเลิกสุรา เลิกยาเสพติด โดยหากปรับพฤติกรรมได้สำเร็จ สามารถเสนอต่อศาลอาญาเพื่อขอรอการลงโทษหรือบรรเทาโทษได้

“กฎหมายใหม่ยังมุ่งส่งเสริมการสร้างสถาบันครอบครัว ที่ต่อไปการจดทะเบียนสมรส พนักงานเจ้าหน้าที่จะให้ความรู้ต่างๆ เช่น การสร้างครอบครัว การมีบุตร หรือการจดทะเบียนหย่า ที่จะให้ความรู้ถึงผลกระทบที่ตามมาต่างๆ ฉะนั้นคิดว่ากฎหมายนี้หากได้ดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ หน่วยงานต่างๆ เช่น ตำรวจ อัยการ ศาล ท้องถิ่น ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยความเข้าใจและใกล้ชิดไปด้วยกัน ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากกฎหมายนี้อย่างยิ่ง” นายเลิศปัญญากล่าว

ผู้ร่วมงานแสดงเจตนารมณ์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง

 

ภายในงานได้เปิดโอกาสให้นักวิชาการ นักกฎหมาย เอ็นจีโอที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเคสความรุนแรงเข้าแสดงทรรศนะอย่างน่าสนใจ

นายสาโรช นักเบศร์ อัยการอาวุโส สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า กฎหมายฉบับใหม่มีความชัดเจนมากขึ้นในกลไกมาตรการคุ้มครอง อีกทั้งส่งเสริมพัฒนาครองครัวให้อยู่เย็นเป็นสุข การคุ้มครองสวัสดิภาพคนในครอบครัวที่ถูกกระทำความรุนแรง และบทบาทหน้าที่ของศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวทุกพื้นที่ ทั้งนี้ การกำหนดให้ศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวในพื้นที่เป็นทั้งหน่วยประสานงาน พัฒนาครอบครัวและคุ้มครองสวัสดิภาพ สิ่งที่อยากฝากคือ ศูนย์ควรมีผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ประจำ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพราะถือว่ามีภารกิจใหญ่โตมาก

สาโรช นักเบศร์

ด้าน ศ.เกียรติคุณ พญ.เพ็ญศรี พิชัยสนิธ ประธานมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวว่า ในส่วนที่กฎหมายใหม่ที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ สามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้เสียหายโดยที่ไม่ได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษได้ จะถูกผู้เสียหายมองว่าคือการละเมิดสิทธิส่วนตัวหรือไม่ เพราะในประเทศไทยก็ยังมีมุมมองจากผู้เสียหายบางส่วน ที่ไม่อยากเอาเรื่องสามีที่เป็นผู้กระทำ เนื่องจากอยากรักษาความเป็นครอบครัวไว้ จึงไม่อยากให้ใครมาช่วย ฉะนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องใส่ใจประเด็นนี้ด้วย เมื่อกฎหมายได้บังคับใช้แล้ว

ศ.เกียรติคุณ พญ.เพ็ญศรี พิชัยสนิธ

ขณะที่หลายคนภายในงานยอมรับว่ากฎหมายนี้ออกแบบมาดี แต่ห่วงว่าในทางปฏิบัติอาจเป็นหนังคนละม้วน เฉกเช่นกฎหมายดีๆ หลายฉบับในไทยที่ไม่อาจปฏิบัติได้ตามเจตนารมณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image