คู่มือประชาชน ร่วมพระราชพิธี ‘บรมราชาภิเษก’

งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เข้าสู่ช่วงพระราชพิธีเบื้องกลาง ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 เป็นช่วงหัวใจสำคัญที่จะมีพระราชพิธีสำคัญๆ เกิดขึ้น พสกนิกรชาวไทยจากทุกสารทิศต่างตั้งใจมาแสดงความจงรักภักดีต่อกษัตริย์พระองค์ใหม่ และร่วมสัมผัสช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ พระราชพิธีอันยิ่งใหญ่ สง่างาม และสมพระเกียรติ

กองอำนวยการร่วมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงแนะนำการเข้าร่วมพื้นที่งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และการอำนวยความสะดวก

เริ่มที่ทางบก ประชาชนสามารถขับรถยนต์และมอเตอร์ไซค์มาจอดยังจุดจอดรถ 27 จุด รองรับรถมากกว่า 32,000 คัน เพื่อเชื่อมต่อรถชัตเติลบัสฟรี 11 เส้นทางมายังพื้นที่จัดงานพระราชพิธี ได้แก่ ทิศเหนือ ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ม.เกษตรศาสตร์ สามารถนั่งรถชัตเติลบัสมาลงสนามม้านางเลิ้ง, ทิศใต้ ที่เซ็นทรัลศาลายา พุทธมณฑลสาย 4 สามารถนั่งรถชัตเติลบัสมาลงวัดเทพศิรินทร์, ทิศตะวันตก ที่เซ็นทรัลเวสต์เกต สามารถนั่งรถชัตเติลบัสมาลงสะพานพระปิ่นเกล้า, ทิศตะวันออก ที่เมกา บางนา อิเกียบางนา สามารถนั่งรถชัตเตอร์บัสมาลงบ้านมนังคศิลา หรือมาจอดในกรุงเทพฯ ชั้นใน อาทิ อาคารจอดรถเอ็มอาร์ทีลาดพร้าว สนามศุภชลาศัย ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2
ก็สามารถนั่งรถชัตเติลบัสมาลงยังพื้นที่จัดงานพระราชพิธีได้เช่นกัน

ในส่วนประชาชนที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะ สามารถเดินทางด้วยรถเฉพาะกิจฟรี 6 เส้นทาง มายังพื้นที่งานพระราชพิธี ได้แก่ จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปกลับสนามม้านางเลิ้ง, จากสถานีขนส่งจตุจักร ไปกลับสนามม้านางเลิ้ง, จากวงเวียนใหญ่ ไปกลับสะพานพระพุทธยอดฟ้า, จากสนามศุภชลาศัย ไปกลับบ้านมนังคศิลา, จากสถานีขนส่งกรุงเทพ (สายใต้ใหม่) ไปกลับสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และจากสถานีรถไฟหัวลำโพง ไปกลับบ้านมนังคศิลา

Advertisement

หรือบริการขนส่งสาธารณะทางราง ประชาชนสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีสายสีม่วงและสีน้ำเงินฟรี เพื่อเข้าร่วมงานในวันที่ 5 พฤษภาคม

ถัดมาทางน้ำ ประชาชนสามารถใช้บริการเรือฟรี ได้แก่ เรือด่วนเจ้าพระยา จากท่าเรือท่าน้ำนนทบุรี ไปกลับท่าเรือปิ่นเกล้าฝั่งพระนคร บริการวันละ 4 เที่ยว คือเวลา 10.00, 11.00, 15.00 และ 16.00 น. และจากท่าเรือสาทร ไปกลับท่าเรือสะพานพุทธ บริการวันละ 4 เที่ยวเช่นกัน รวมถึงเรือข้ามฟากให้บริการระหว่างเวลา 06.00-22.00 น. จากท่าเรือพระราม 8 (ฝั่งธนบุรี) ไปกลับท่าเรือพระราม 8 (ฝั่งพระนคร) บริการทุก 15 นาที, จากท่าเรือพระราม 8 (ฝั่งธนบุรี) ไปกลับท่าเรือปิ่นเกล้า (ฝั่งพระนคร) บริการทุก 20 นาที, จากท่าเรือปิ่นเกล้า (ฝั่งธนบุรี)ไปกลับท่าเรือปิ่นเกล้า (ฝั่งพระนคร) บริการทุก 15 นาที และจากท่าเรือรถไฟ ไปกลับท่าเรือพระจันทร์ใต้ บริการทุก 20 นาที

และเรือโดยสารคลองแสนแสบ เส้นทางท่าเรือประตูน้ำ ไปกลับท่าเรือผ่านฟ้าลีลาศ ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม ให้บริการระหว่างเวลา 07.00-19.00 น., วันที่ 5 พฤษภาคม ให้บริการระหว่างเวลา 07.00-22.00 น. และวันที่ 6 พฤษภาคม ให้บริการระหว่างเวลา 07.00-20.00 น.

Advertisement

เมื่อประชาชนเดินทางถึงยังพื้นที่จัดงานพระราชพิธีรอบนอกแล้ว จะต้องเข้าจุดคัดกรองที่กระจายอยู่ 21 จุด เพื่อเข้ายังพื้นที่ด้านใน ได้แก่ สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า, แม่พระธรณีบีบมวยผม, ถนนหน้าพระธาตุ, ท่าช้าง, ถนนจักรพงษ์, ถนนข้าวสาร, ถนนตะนาว, ถนนบุญสิริ, ถนนแพร่งนรา, แยกบางลำภู, ถนนประชาธิปไตย, ถนนนครสวรรค์, ถนนหลานหลวง, ถนนมหาไชย, ถนนดินสอ, ซอยดำรงรักษ์, แยกเสาชิงช้า, แยกเฉลิมกรุง, สน.พระราชวัง และท่าเตียน

โดยประชาชนจะต้องเตรียมบัตรประชาชน หนังสือเดินทางในกรณีชาวต่างชาติ และรับการตรวจสัมภาระ สแกนใบหน้า ก่อนจะเดินเท้าเข้าพื้นที่ชั้นใน

ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงเรื่องอาหารและเครื่องดื่มแก่ประชาชนที่มาร่วมงานพระราชพิธี การนี้ พระราชทานโรงครัวเพื่อจัดอาหารและเครื่องดื่มพระราชทานแก่ประชาชน ซึ่งมี 18 จุดทั้งพื้นที่รอบนอกและรอบในงานพระราชพิธี ได้แก่ สนามหลวง, ซอยศาลหลักเมือง, วัดมหรรณพารามวรวิหาร, วัดสามพระยา, โรงเรียนสตรีวิทยา, สวนสาธารณะป้อมมหากาฬ, โรงเรียนราชบพิธ, วิทยาลัยตั้งตรงจิตรพณิชยการ, สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า, สนามม้านางเลิ้ง, บ้านพิษณุโลก, บ้านมนังคศิลา, วัดเทพศิรินทรฯ,
สะพานพุทธฯ, สะพานพระราม 8

อย่างไรก็ดี เมื่อประชาชนได้อยู่ในพื้นที่จัดงานพระราชพิธีแล้วจะได้รับการอำนวยความสะดวก ดูแล และปลอดภัย จากหลายภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน มูลนิธิต่างๆ ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ที่พร้อมใจมาให้บริการอาหาร น้ำดื่ม ห้องสุขา แสงสว่าง ปฐมพยาบาล ส่งไปรักษาโรงพยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ จิตอาสาเราทำความดี ด้วยหัวใจ ซึ่งกระจายบริการครอบคลุมทุกพื้นที่และซอกซอยบริเวณงานพระราชพิธี

นอกจากนี้ การประปานครหลวงได้จัดทำกระบอกน้ำพลาสติกชนิดพกพาประดับตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก จำนวน 300,000 ใบ เพื่อมอบให้แก่ประชาชนที่มาร่วมเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ณ จุดคัดกรอง 6 จุด ได้แก่ ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า แม่พระธรณีบีบมวยผม ท่าช้าง สะพานช้างโรงสี สะพานมอญ และสะพานเจริญรัช

ขณะที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดทำเข็มกลัดที่ระลึกตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พิมพ์ข้อความ “เสด็จออก สีหบัญชร ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒” จำนวน 100,000 เข็ม มอบให้ประชาชนที่มาร่วมเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเสด็จออก ณ สีหบัญชร
พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ในวันที่ 6 พฤษภาคม

ทั้งนี้ กองอำนวยการร่วมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้ขอความร่วมมือประชาชนแต่งกายชุดสุภาพ และเสื้อสีเหลืองเข้าร่วมงาน พร้อมแนะนำถึงการเตรียมตัวเตรียมร่างกายให้พร้อม ตั้งแต่ยารักษาโรค ยาประจำตัว หมวก ร่ม รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ การดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพราะต้องเผชิญกับอากาศร้อนและแสงแดดจัด และด้วยทรงห่วงใยประชาชนที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งให้จัดเสื่อ เบาะรองนั่ง และหญ้าเทียมแก่ประชาชน

ทรงให้ทุกฝ่ายดูแลประชาชนเสมือนเป็นแขกของพระองค์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image