นักวิชาการจี้รัฐเปิดช่องให้’แรงงาน’รวมกลุ่มเรียกร้องสิทธิให้ตนเอง

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ร่วมกับ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาหัวข้อ “สถานการณ์แรงงานไทยในสายตาประชาคมโลก” ที่อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาฯ

นางสุภางค์ จันทวานิช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่น สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชียฯ ได้ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) และมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (แอลพีเอ็น) สำรวจข้อมูลสถานการณ์แรงงานประมง ตามตัวชี้วัดด้านแรงงานบังคับของไอแอลโอ จากการสำรวจแรงงาน 596 คน ใน จ.สมุทรสาคร สงขลา ระนอง และ ระยอง พบว่า ร้อยละ 66.9 ต้องทำงานติดต่อกันนานกว่า 17-24 ชั่วโมง โดยที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนล่วงเวลาและการชดเชยวันหยุดในภายหลัง อีกทั้งยังพบแรงงานถูกละเมิดสิทธิเนื่องจากไม่มีเอกสารประจำตัวและนายจ้างไม่พาไปจดทะเบียน ร้อยละ 72.1 พบสภาพการทำงานและความเป็นอยู่เลวร้าย เช่น น้ำดื่มและอาหารไม่เพียงพอ ร้อยละ 31.6 นอกจากนี้ พบกรณีการค้างจ่ายค่าจ้าง ร้อยละ 27.6

ด้านนายแล ดิลกวิทยรัตน์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม กล่าวว่า หากปล่อยให้แรงงานมีสิทธิเรียกร้องสิทธิของตัวเองได้ จะทำให้การละเมิดสิทธิแรงงานลดลง ทั้งนี้ การที่แรงงานเรียกร้องให้รัฐให้สัตยาบันอนุสัญญาไอแอลโอฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิการรวมตัวและเจรจาต่อรองมากว่า 23 ปี รัฐบาลควรเร่งดำเนินการ

นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิแอลพีเอ็น กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงและแรงงานเรือประมง นอกจากดูแลให้มีการใช้แรงงานที่ถูกกฎหมาย จะต้องแก้ปัญหาเรื่องนายหน้า และดูแลเรื่องเงื่อนไขสภาพการจ้างงานและมีสัญญาจ้าง รวมทั้งมีหลักฐานการจ่ายค่าจ้างที่ชัดเจน ซึ่งในส่วนของแรงงานเรือประมง หากมีการกำหนดอัตราค่าจ้างในตำแหน่งงานต่างๆ ให้เป็นมาตรฐาน เช่น คนอวนได้เงินค่าจ้างเดือนละ 9,000 บาท เชื่อว่าทั้งแรงงานไทยและต่างด้าว ยินดีทำงาน นอกจากนี้ ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน แอลพีเอ็นได้รับการร้องเรียนจากแรงงานต่างด้าวในจังหวัดต่างๆ เกือบ 1,000 คน ว่าถูกละเมิดสิทธิในเรื่องค่าจ้างและค่าทำงานล่วงเวลา จึงได้ประสานหน่วยงานรัฐเข้าไปช่วยเหลือ

Advertisement

พ.ต.ท.คมวิชช์ พัฒนรัฐ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันและปราบปราม 1 ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการให้แรงงานที่เป็นผู้เสียหายเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาในการใช้แรงงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ แต่ยืนยันว่าภาครัฐยังคงต้องเข้าไปช่วยเหลือแรงงาน เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อนำแรงงานผู้เสียหายไปสืบพยาน ก็พบว่าถูกกดดันด้วยสถานภาพทางสังคมจากฝ่ายจำเลย จึงแก้ปัญหาโดยให้มีการสืบพยานผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์และให้เข้าสู่ระบบคุ้มครองพยาน ส่วนผู้ประกอบการ หากไม่ดำเนินการตามกฎหมายและกติกาตามที่ภาครัฐกำหนด ก็จะดำเนินการตามกฎหมายเป็นรายๆ ไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image