หมอรักษา ‘ธัมมชโย’ ร้องแพทยสภา ส่งทีมตรวจยืนยันอาการป่วย หวังลบข้อกังขา(ชมคลิป)

 

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 25 พฤษภาคม ร.ท.นพ.ชูชัย พรพัฒนาพันธุ์ หนึ่งในคณะแพทย์ผู้รักษาพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย พร้อมด้วยศิษยานุศิษย์ประมาณ 20 คน เดินทางมายังสำนักงานแพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เพื่อยื่นหนังสือถึง นายกแพทยสภา เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาตรวจและวินิจฉัยโรค โดยมี นายศุภวัฒน์ โพธิ์ทอง หัวหน้าฝ่ายจริยธรรม แพทยสภา เป็นผู้แทนรับเรื่องดังกล่าว เนื่องจากศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา และผู้บริหารแพทยาสภาติดภารกิจที่ต่างจังหวัด

ร.ท.นพ.ชูชัย กล่าวว่า หลังจากคณะแพทย์ผู้รักษาได้ทำการตรวจอาการอาพาธของผู้ป่วยตามเอกสารรับรองว่า พระเทพญาณมหามุนีอาพาธเป็นโรค DVT (May Thurner syndrome) หรือ ภาวะหลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน ที่ช่องท้องซ้ายเกิด มีอาการลิ่มเลือดอุดตันเฉียบพลันซ้อนทับภาวะ DVT (acute thrombosis on top chronic DVT) ซึ่งเป็นไปตามใบรับรองแพทย์ที่แนบมา 3 ฉบับ พร้อมเวชระเบียน ทำให้ไม่สามารถที่จะเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอได้ในวันที่ 26 พฤาภาคม 2559 และทางเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษก็ไม่ได้ส่งแพทย์มาตรวจสอบตามขั้นตอน โดยกล่าวว่า ได้ข้ามขั้นตอนนี้ไปแล้ว และยังมีข่าวว่าใบรับรองแพทย์ ของ พ.ท.นพ.สิริพงศ์ พัฒนาธนาวิสุทธิ์ ไม่ถูกต้องอีก ทั้งที่แพทย์ได้มาตรวจและวินิจฉัยโรคจริง

Advertisement

ร.ท.นพ.ชูชัย กล่าวอีกว่า คณะแพทย์ผู้รักษาจึงขอความอนุเคราะห์จากแพทยสภา ซึ่งเป็นองค์กรกลางที่ดูแลความเป็นธรรมด้านทางการแพทย์ ช่วยส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาตรวจอาการอาพาธของพระเทพญาณมหามุนีที่วัดพระธรรมกาย เพื่อตรวจวินิจฉัยให้ถูกต้องตามขั้นตอนต่อไป

“การมาร้องขอแพทยสภาครั้งนี้ ก็เพื่อให้สังคมได้ทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะสังคมมีความสงสัยว่าท่านอาพาธจริงหรือไม่ จึงต้องทำความจริงให้ปรากฏ เพื่อยืนยันความจริงให้คนป่วย และแพทย์ สังคมจะได้กระจ่าง ขจัดข้อกังขาทั้งหมด ซึ่งภายในสหคลินิกรัตนเวชมีเครื่องอัลตราซาวด์และอุปกรณ์ที่จำเป็นในการตรวจวินิจฉัย โดยแพทย์เฉพาะทางหากดูจากการฉีดสีเข้าเส้นเลือด เส้นรอบวงของขาที่บวมขึ้นก็จะรู้แล้วว่าเป็นโรคอะไร และยืนยันว่าแพทย์ที่เข้าไปตรวจจะมีความปลอดภัย ไม่ต้องกังวลเรื่องข้อคิดเห็นต่าง หรือเรื่องใดก็ตาม” ร.ท.นพ.ชูชัยกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงการยื่นเรื่องครั้งนี้จะทันหรือไม่ เพราะดีเอสไอระบุว่าจะต้องเดินทางมาภายในวันที่ 26 พฤษภาคม ร.ท.นพ.ชูชัย กล่าวว่า ขั้นตอนทางการกฎหมายจะมีฝ่ายกฎหมายดูแล แต่ในส่วนทางการแพทย์ ก็ถือเป็นการให้โอกาสและเป็นสิทธิ์ของผู้ป่วย ที่จะต้องคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ไม่สามารถละเมิดได้ จึงจำเป็นต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลางเข้าไปตรวจวินิจฉัยก่อนที่จะออกหมายจับ

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า อาการอาพาธของพระธัมมชโยจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่รพ.หรือไม่ ร.ท.นพ.ชูชัย กล่าวว่า ตามความเห็นของคณะแพทย์ที่ทำการรักษาและคณะศิษย์ต้องการให้ท่านเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แต่เป็นความประสงค์และสิทธิของผู้ป่วยที่จะเลือกรับการรักษาที่ไหน จากแพทย์คนใด และวิธีการรักษาอย่างไร จึงได้มีการจัดระบบการรักษา ยา เวชภัณฑ์ที่ดีที่สุดที่สามารถดำเนินการจัดหาได้ในการดูแล และท่านเคยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเมื่อ 10 ปีก่อน โดยมีการทำหัตถการแล้วทำให้ไอเป็นเลือด จึงเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อโรงพยาบาล

ร.ท.นพ.ชูชัย กล่าวอีกว่า ความเห็นแพทย์คือมีอาการลิ่มหลอดเลือดดำอุดตันในส่วนลึกและส่วนผิว รวมถึงทางบายพาสก็ตัน และมีการอุดตันเฉียบพลันปนอาการเรื้อรัง จึงมีโอกาสลิ่มเลือดอุดตันที่ปอดได้ถ้ามีการเคลื่อนไหว การรักษาปัจจุบันมีการให้ยาละลายลิ่มเลือดและยกขาสูง เพราะแพทย์ให้ความเห็นว่าอาการอาพาธเลยระยะที่จะต้องทำการผ่าตัดมาแล้ว แม้จะไปเข้ารับการรักษาที่รพ.โอกาสที่กลับมาเป็นปกติก็ยากมาก ก็จะทำการรักษาเหมือนกัน คือ ให้ยาละลายลิ่มเลือด เป็นการป่วยในระยะปลาย เลือดแดงไปได้ แต่เลือดดำกลับได้ไม่ค่อยดี แต่ถ้ามีการเคลื่อนไหว ก็จะทำให้เลือดแดงไปได้ไม่ดีและโอกาสเกิดเนื้อตายได้ ทั้งนี้ เมื่อ 10 ปีก่อนแพทย์เคยแนะนำให้ท่านตัดขา แต่ท่านไม่ตัด ปัจจุบันแม้อาการไม่ดีนักแต่ไม่แย่ถึงกับต้องตัดขา

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีมีแพทย์รพ.หนึ่งตั้งข้อสังเกตกรณีถ่ายคลิปวิดีโอการรักษาว่า ไม่สอดคล้องกับอาการตามหลักการแพทย์ ร.ท.นพ.ชูชัย กล่าวว่า จากอาการของผู้ป่วยไม่มีความแน่นอน อาการบางครั้งก็ดีขึ้น แต่ด้วยความที่เป็นหมอ และไม่ได้ทำการรักษาโดยตรง ดูจากภาพและมาวิจารณ์นั้น โดยหลักจะไม่ก้าวล่วงกัน อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สังคมคลายข้อสงสัย และเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ผู้ป่วย จึงมองว่าควรมีหน่วยงานกลาง ที่เป็นกลาง อย่างแพทยสภา ในการเข้ามาตรวจวินิจฉัยเพื่อยืนยันอาการ

เมื่อถามว่าการให้แพทยสภาส่งทีมเข้าไปยืนยันอาการนั้น ต้องเป็นแพทย์ด้านใด และการไปตรวจนอกสถานที่ เครื่องมือแพทย์จะเพียงพอหรือไม่ ร.ท.นพ.ชูชัย กล่าวว่า แล้วแต่แพทยสภาจะพิจารณา แต่จากอาการของผู้ป่วย มีภาวะลิ่มเลือด ก็ควรมีแพทย์ด้านที่เกี่ยวข้อง ทั้งโลหิตวิทยา ศัลยกรรมหลอดเลือด และอายุรกรรม ส่วนความพร้อมของเครื่องมือแพทย์ก็มี อย่าง เครื่องอัลตราซาวน์ เป็นต้น

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า กรณีที่เกี่ยวข้องกับคดีความนั้นจริงๆไม่ใช่หน้าที่ของแพทยสภา แต่เมื่อมีการร้องขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางด้านการแพทย์ จึงจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารเพื่อพิจารณาประมาณสัปดาห์หน้า และส่งต่อให้ราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบ ทั้งนี้ ไม่ได้กังวลว่าจะมีการใช้ช่องว่างในการใช้เวลานานกว่าจะมีการประชุมของแพทยสภาไปเป็นข้ออ้างอื่นๆ นั้น เพราะแพทยสภาดำเนินการตามขั้นตอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image