อย.ส่งทีมตรวจ ‘ปลาดิบ’ ร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดัง หลังโซเชียลหวั่นผสมสีต้องห้าม 

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม

หลังจากเกิดกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจับผู้ค้า “น้ำส้มคั้นปลอม” ซึ่งใช้น้ำประปาผสมสีใส่ขัณฑสกร หรือสารให้ตรวจตามร้านค้ารถเข็นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) โดยเฉพาะย่านเยาวราชนั้น ล่าสุดเกิดกรณีอาหารเสี่ยงปนเปื้อนอีก โดยในสังคมออนไลน์มีการแชร์ข้อความพร้อมภาพจากเฟซบุ๊กส่วนตัวของผู้ใช้ชื่อ “Dr.Nantarika Chansue” ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กของ  รศ.สพ.ญ.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับปลาดิบของร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดัง ที่มีสาขามากมายทุกศูนย์การค้า…โดยสั่งอาหารชุดที่มีปลาดิบเป็นปลาโอ 2 ชิ้น แซลมอน 2 ชิ้น โดยเห็นสีและลักษณะเนื้อปลาโอ เป็นสีแดงชมพู จึงนำมาเพาะเชื้อ และลองแช่น้ำเพียง 5 นาทีกลายเป็นซีดขาว

ขณะที่ เฟซบุ๊ก  “Jessada Denduangboripant”  ของ รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เกี่ยวกับเรื่องนี้สรุปว่า สีดังกล่าว ไม่น่าใช่สีย้อม แต่เป็นสารโปรตีนตามธรรมชาติในเนื้อปลาที่ชื่อว่า มายโอโกลบิน (myoglobin)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า จากการส่งต่อข้อมูลในโลกออนไลน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาง อย.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ล่าสุดได้ส่งเจ้าหน้าที่สำนักอาหาร ลงพื้นที่สุ่มตรวจปลาดิบในร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดังหรือภัตตาคาร โดยสุ่มตรวจจำนวน 5 แห่งในห้างสรรพสินค้าต่างๆ เพื่อเก็บตัวอย่างส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาตรวจวิเคราะห์หาสีผสมในเนื้อปลาดิบ และตรวจหาเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค คาดว่าจะได้ผลภายใน 1 สัปดาห์

“สำหรับปลาดิบ ถือเป็นอาหารสด ซึ่งตามกฎหมายต้องไม่มีสารปนเปื้อน และต้องไม่ผสมสีใดๆ ทุกชนิด แม้แต่สีผสมอาหาร หากตรวจพบจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 โดยต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท  แต่หากตรวจพบผลิตภัณฑ์มีการใช้สีในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น สีย้อมผ้า สีย้อมอวน หรือการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคจะดำเนินการตามกฎหมาย โดยจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นพ.ไพศาล กล่าวและว่า ส่วนกรณีที่มีการแชร์ในโซเชียลนั้น ได้ประสานขอข้อมูลอยู่และจะดำเนินการตรวจสอบต่อไป

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า เฟซบุ๊ก รศ.เจษฎา ระบุว่าอาจไม่ได้ผสมสีใดๆ แต่เป็นสารโปรตีนในธรรมชาติที่เรียกว่า มายโอโกลบิน นพ.ไพศาล กล่าวว่า อย่างไรเสีย หน้าที่ของอย.ก็ต้องสุ่มตรวจและนำไปตรวจวิเคราะห์ก่อน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ทั้งนี้ สิ่งสำคัญ ก่อนบริโภคต้องหมั่นสังเกตก่อนบริโภค ทั้งสี ควรเป็นสีของเนื้อตามลักษณะธรรมชาติ กลิ่นไม่ผิดปกติ สภาพเนื้อปลาต้องไม่ยุ่ย และควรสังเกตร้านอาหารต้องถูกสุขลักษณะด้วย อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์อาหารที่สงสัยว่ามีใส่สารเจือปนที่เป็นอันตราย หรือไม่ได้มาตรฐาน สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application  หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดที่พบปัญหา เพื่อ อย.และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะร่วมมือกันเฝ้าระวังตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้ผู้บริโภคทั่วประเทศ

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการตรวจน้ำส้มคั้นในพื้นที่ กทม. นพ.ไพศาล กล่าวว่า ได้ลงไปเก็บตัวอย่างน้ำส้มคั้น รวมทั้งน้ำทับทิม และน้ำส้มเช้ง เพื่อส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขณะนี้รอการตรวจอยู่

S__9117882

Advertisement

S__9117881

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image