นักวิชาการจี้รัฐบาลขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 10-20 บ.เท่ากันทั่วปท.ยันสถานประกอบการไม่เจ๊ง

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม เครือข่ายวิชาการเพื่อสังคมเป็นธรรม ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จัดงานเสวนาเรื่อง “ทำไมค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั่วประเทศ”

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธาน คสรท. กล่าวว่า ที่ผ่านมาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน และตัวแทนลูกจ้างที่เข้าร่วมเป็นอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดไม่มีอำนาจต่อรอง แม้เครือข่ายแรงงานพยายามเสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้าง แต่รัฐบาลไม่รับฟังกลับอ้างถึงเหตุผลทางเศรษฐกิจว่าหากปรับขึ้นจะส่งผลต่อการลงทุน ปัจจุบันแม้รัฐบาลจะประกาศค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน แต่ยังข้องใจว่าจะสามารถบังคับใช้ได้จริงหรือไม่ และแรงงานในสาขาอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในประกาศค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานจะช่วยเหลืออย่างไร

นายแล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ข้อเท็จจริง ค่าจ้างขั้นต่ำคิดเป็นเพียง 1 ใน 100 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมดเท่านั้น การที่รัฐบาลระบุว่าทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละพื้นที่แตกต่างกันเพื่อดึงดูดการลงทุน จึงไม่เป็นเหตุเป็นผล เพราะแต่ละพื้นที่มีต้นทุนไม่แตกต่างกัน ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องใช้มาตรการทางภาษีในการดึงดูดนักลงทุน เช่น ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

“หากอยากให้สมประโยชน์ทั้งสองฝ่ายทั้งลูกจ้างและนายจ้าง ก็จะต้องมีการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีความสามารถมากขึ้นหรือการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพื่อให้นายจ้างได้งานที่ดีมีคุณภาพมากขึ้น รวดเร็ว และลดการสูญเสียในขั้นตอนการผลิตและลูกจ้างได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น แต่นายจ้างจะต้องร่วมกับรัฐบาลในการพัฒนาฝีมือแรงงาน” นายแล กล่าว

ADVERTISMENT

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า รัฐบาลควรเห็นใจลูกจ้าง เพราะค่าแรงขั้นต่ำมีการปรับล่าสุดเมื่อ 3 ปีที่แล้ว หลังจากนั้นก็ไม่มีการปรับเพิ่มอีก ดังนั้นมองว่าการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำต้องมองเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำ หากเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตได้ต้องทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยค่าแรงขั้นต่ำควรเป็นค่าแรงแรกเข้าสำหรับผู้ไม่มีทักษะ และต้องเป็นไปตามคำจำกัดความขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) คือเพื่อให้สามารถดูแลครอบครัวได้ ทั้งนี้ มองว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือคนมีเงินในมือมากขึ้น จะสามารถใช้จ่ายได้มากขึ้น และมองว่าการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเพียง 10-20 บาท ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของสถานประกอบการมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image