มหิดลเปิดตัวเทคโนโลยีแก้ปัญหา “หลับใน” เอกชนต่อยอดนำไปใช้จริง  

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม  ที่อาคารศูนย์การเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวเปิดตัว “Alertz : อุปกรณ์ตรวจวัดระดับความง่วงด้วยคลื่นสัญญาณสมองแบบอัตโนมัติ”  พร้อมลงนามแลกเปลี่ยนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกับบริษัท ไฟน์เนส เด ดีไซน์ จำกัด โดย ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญอย่างปีใหม่และสงกรานต์ สาเหตุหลักมาจากการเมาแล้วขับ แต่อุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปีส่วนใหญ่พบว่ามาจากการง่วงแล้วขับหรือเกิดการหลับในมากกว่า โดยอุบัติเหตุจากการหลับในของไทยมีความเสียหายคิดเป็น 4 แสนเหรียญสหรัฐต่อปี และมีแนวโน้มสูงขึ้น จากปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของนวัตกรรม “อุปกรณ์ช่วยเตือนหลับในขณะขับรถด้วยสัญญาณสมอง หรือ Alertz” ซึ่งอาศัยการตรวจจับคลื่นสมองก่อนเกิดอาการหลับใน เพื่อแจ้งเตือนคนขับล่วงหน้า

ผศ. ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เครื่องแจ้งเตือนการหลับใน  เป็นผลงานวิจัยของกลุ่มนักศึกษาจากศูนย์ปฏิบัติการเชื่อมต่อสัญญาณสมองด้วยคอมพิวเตอร์ (Brain-Computer Interface Center) ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหิดล ใช้ระยะเวลาในการพัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบ 2 ปี จากเทคโนโลยี Brain-Computer Interface โดยเครื่องจะอาศัยการตรวจจับคลื่นสัญญาณสมอง ซึ่งโดยทั่วไปคลื่นสมองของมนุษย์จะถูกแบ่งออกเป็นช่วงคลื่นความถี่ที่แตกต่างกัน แต่ละช่วงความถี่จะบ่งชี้ถึงพฤติกรรมต่างๆ ของร่างกาย เช่น ช่วงคลื่นความถี่สูงจะบ่งบอกว่าร่างกายอยู่ในสภาวะตื่นตัวหรือกำลังเครียด ช่วงคลื่นความถี่ต่ำจะบอกถึงสภาวะร่างกายในขณะที่นิ่งสงบหรือนอนหลับ เป็นต้น

“หากคลื่นสมองเรามีความถี่ต่ำลงจากปกติ บ่งบอกถึงอาการเริ่มง่วง ก็จะทำการแจ้งเตือนผู้ขับขี่ด้วยการสั่น ทำให้ป้องกันการเกิดการหลับในและลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุลงได้ ซึ่งถือว่าแตกต่างจากเทคโนโลยีตรวจวัดการหลับในอื่นๆ ที่ตรวจแบบโดยอ้อม เช่น ดูการเคลื่อนไหวของร่างกายหรือพฤติกรรมการขับขี่ เป็นต้น ซึ่งมีใช้กันในปัจจุบันและใช้ในประเทศพัฒนาแล้ว” ผศ.ยศชนัน กล่าว และว่า คลื่นสมองของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป ดังนั้น การที่เครื่องจะวัดว่าคลื่นสมองมีความถี่ที่ต่ำลงกว่าปกตินั้น จึงต้องมีการตั้งค่าให้เครื่องก่อน โดยต้องตั้งค่าก่อนใช้งานตอนที่ร่างกายมีความตื่นตัวเป็นปกติ ไม่ง่วง จากนั้นเปิดเครื่องและสวมเครื่องลงที่ศีรษะ รอนิ่งๆ เป็นเวลา 1 นาที เมื่อเครื่องสั่นแสดงว่าตั้งค่าสำเร็จแล้ว จากนั้นจึงนำไปใช้งานได้ หากคลื่นสัญญาณสมองความถี่ต่ำลงกว่าปกติลงมา 15-20% ก็จะส่งสัญญาณเตือนก่อนที่จะหลับใน และจะหยุดต่อเมื่อผู้ใช้งานรู้สึกตื่นตัวหรือหายง่วง  ทั้งนี้ไม่ต้องกังวลว่า จะทำให้ผู้ใช้เกิดอาการตกใจจนเกิดอุบัติเหตุ  เพราะการเตือนจะสั่นแบบค่อยเป็นค่อยไป

ผศ.ยศชนัน กล่าวอีกว่า เครื่องดังกล่าวจะเน้นการใช้งานในกลุ่มการขนส่งหรือโลจิสติกส์ก่อน ซึ่งขณะนี้ได้การพัฒนาไปสู่ระดับอุตสาหกรรม โดยนักวิจัยในทีมได้ร่วมกับบริษัท ทีมพรีซิชั่น จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งบริษัท ไฟเนส เมด ดีไซน์ จำกัด เพื่อผลิตนวัตกรรมทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ และได้ติดต่อกับทางบริษัทขนส่ง รถบรรทุก ขนส่งน้ำมัน รถโดยสารสาธารณะของเอกชน ซึ่งมีหลายรายได้สนใจซื้อไปทดลองใช้ และจะมีการเก็บข้อมูลการใช้งาน 1 ปี

Advertisement
ผศ. ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์
ผศ. ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image