เหยี่ยวถลาลม : ต่างกันตรงไหน

เดือนกุมภาพันธ์ 2534 “รสช.” นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ก่อรัฐประหาร อ้างความเลวสารพัดของนักการเมืองและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ระหว่างที่เขียนกติกาใหม่ก็ปล่อยให้ นายอานันท์ ปันยารชุน นั่งขัดตาทัพปีหนึ่ง เสร็จแล้วจัดให้มีการเลือกตั้ง

ให้พรรคสามัคคีธรรมเป็น “นอมินี”

เลือกตั้งเสร็จ “พรรคสามัคคีธรรม” เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล มีพรรคชาติไทย กิจสังคม ประชากรไทย ราษฎร เข้าร่วม พร้อมประกาศสนับสนุน “สุจินดา” เป็นนายกรัฐมนตรี

Advertisement

“สุจินดา” ที่เคยร้องว่าไม่เอา-ไม่เอา เหมือนศรีธนญชัย ต้องกลับคำ

ประกาศว่า “ยอมเสียสัตย์เพื่อชาติ”!

7 เมษายน 2535 ฝ่ายต่อต้านจุดไฟติด ชักชวนกันชุมนุมยืดเยื้อจนถูกทหารปราบระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535 ต่อมาเรียกกันว่า “พฤษภาทมิฬ”

Advertisement

“สุจินดา” เป็นนายกฯได้ 48 วัน ต้องลาออก

ตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อายุ 38 ปี

22 ปีต่อมา “ประยุทธ์” เป็นหัวหน้า “คสช.” ก่อรัฐประหาร

ดูรอยเท้ารุ่นพี่แล้ว “ประยุทธ์” กล่าวแต่เพียงว่า “ขอเวลาไม่นาน”

แต่ปาเข้าไป 5 ปี

ให้พรรคพวก “แม่น้ำแห่งอำนาจ 5 สาย” ทำงานตามแผน เมื่อจบก็ตอบแทนด้วยการแต่งตั้งให้มีงานทำต่ออีก 5 ปี

ให้เป็น “ส.ว.” ที่เป็น 1 เสาค้ำยันเสถียรภาพให้กับรัฐบาลที่ “ประยุทธ์” จะเป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2

ส่วนด้านการเมือง มีรัฐมนตรีใน “รัฐบาล คสช.” ออกมาตั้งพรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับประกาศล่วงหน้าตั้งแต่ยังไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งว่า “จะเป็น 1 ในพรรคที่จัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง”

นายรณฤทธิชัย คานเขต อดีต ส.ส.ยโสธร จึงกล้าที่จะบอกว่า สาเหตุที่ย้ายมาพรรคนี้เพราะเป็นรัฐบาลแน่นอน ทั้งยังมี ส.ว.สรรหา 250 คน รอสนับสนุน

ไม่มีคำว่าบังเอิญ

ทุกสิ่งดำเนินไปตามแผน

“พลังประชารัฐ” ได้รับเลือกมาเป็นอันดับ 2 “ประชาธิปัตย์” ร่วงไปเป็นอันดับ 4 ระหว่างนี้นักการเมืองหน้าเก่าๆ ก็ต้องกระโจนเข้าสู่วงจรช่วงชิงการแบ่งเค้กกันเช่นเดิม

ส่วนการคัดสรร “ส.ว.” ที่ใช้งบประมาณแผ่นดินถึง 1,300 ล้านบาทนั้น ไม่ได้คนที่เป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพหลากหลาย

ได้แต่พี่น้องผองเพื่อนและพวกของบิ๊ก คสช.

ปรัชญาเมธีกล่าวเอาไว้นับพันปีไม่มีผิด

“ผลประโยชน์ของผู้แข็งแรงกว่าเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย” !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image