กางพิมพ์เขียว ‘สปท.’ แผนปฏิรูปตำรวจ กะเทาะปัญหา ‘สีกากี’ เปิดสูตร ที่มา ‘ผบ.ตร.’

หมายเหตุ – สาระสำคัญของแผนการปฏิรูปตำรวจของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ที่ผ่านสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว อยู่ระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พิจารณาส่งความเห็นเสนอกลับมาที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อแก้ข้อกฎหมายตามที่ ตร.เสนอ

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เล็งเห็นถึงสภาพปัญหาภายในองค์กรตำรวจ ที่ส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจมาโดยตลอด โดยเฉพาะปัญหาที่ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงการบริหารงานบุคคล จนทำให้ประชาชนเกิด “ข้อครหา” ว่า “ตำรวจสองมาตรฐาน” “ตำรวจไม่เป็นกลาง” และ “ตำรวจรับใช้นักการเมือง” และยังส่งผลไปถึงปัญหาการวิ่งเต้น ซื้อขายตำแหน่งอีกด้วย กรธ.จึงได้ร่วมกันกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องมีการปฏิรูปกิจการตำรวจ บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 เป็น “บทเฉพาะกาล” พร้อมกำหนดเงื่อนไขเวลาให้ทำการปฏิรูปให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ โดยมาตรา 268 วรรคแรก ความว่า “เพื่อให้รัฐปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 49 และดำเนินการตามแนวนโยบายแห่งรัฐตามมาตรา 64 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้ง โยกย้าย และการพิจารณาบำเหน็จความชอบ เพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพและภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน ทั้งนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายที่ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ดังกล่าว ให้การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจดำเนินการตามลำดับอาวุโส”

คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้พิจารณาถึงสภาพปัญหาขององค์กรตำรวจ ประกอบกับเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงมีมติเห็นชอบให้ประเด็นการปฏิรูป “ความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลของตำรวจจากการแทรกแซงทางการเมือง” เป็นประเด็นปฏิรูปที่สมควรได้รับการดำเนินการเป็นวาระเร่งด่วน

สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะ “การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)” จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่ที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะมีการเปลี่ยนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่ง “อธิบดีกรมตำรวจ” หรือ “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” แต่งตั้งข้าราชการตำรวจจากการที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจทางการเมืองในขณะนั้นมาแทนที่ผู้ดำรงตำแหน่งเดิมที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากรัฐบาลชุดก่อน เพื่อที่ฝ่ายบริหารจะสามารถควบคุม สั่งการให้การปฏิบัติงานของตำรวจตอบสนองฝ่ายบริหาร อีกนัยหนึ่งคือ “เพื่อใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือ”

Advertisement

ตำรวจไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับนักการเมือง ปัญหาทางการเมือง ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น เพราะบริบทสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา “ยึดโยง” กับการเลือกตั้ง และนักการเมืองในทุกระดับ ขณะเดียวกันในทางฝ่ายการเมืองนั้นก็มีความจำเป็นต้องประสานความร่วมมือกับตำรวจในการดำเนินการทางการเมืองในแต่ละชุมชน ตำรวจกับนักการเมืองจึงมีบริบทที่ต้องมาปฏิบัติงานหรือประสานงานกันโดยตลอด

ปัญหาการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองส่งผลต่อการขาดความเป็นอิสระในการปฏิบัติงาน ปัญหาสังคมไทยกับการเลือกตั้งที่บางครั้งมีนักธุรกิจผู้มีประวัติน่าสงสัยหรือผู้มีอิทธิพล อาจจะอาศัยตำรวจเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์และใช้ช่องทางเข้าสู่อำนาจทางการเมืองโดยมิชอบ หรือถ้ามีอำนาจทางการเมืองอยู่แล้วจะใช้อำนาจของรัฐผ่านกลไกของตำรวจเป็นเครื่องมือรักษาอำนาจนั้นไว้ เช่น การสร้างความได้เปรียบในการเลือกตั้งโดยอาศัยตำรวจเป็นกลไก

ในขณะเดียวกัน ข้าราชการตำรวจเองเมื่อกลไกต่างๆ เอื้อให้ฝ่ายการเมืองกลายเป็นผู้มีอำนาจในการชี้ขาด ในเรื่องความเจริญก้าวหน้าของข้าราชการตำรวจเกือบทุกระดับ จึงทำให้เกิด “ปัญหาการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง” เป็นที่กล่าวหาของสังคมตลอดมา

Advertisement

สาเหตุของปัญหาการบริหารงานของ ตร.ในปัจจุบัน เป็นไปตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และเป็นที่มาในการกำหนดเรื่องของการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ตลอดจนข้าราชการตำรวจระดับ “ยศ พล.ต.ต.” ขึ้นไป กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเข้ามาเป็นผู้ใช้อำนาจในการแต่งตั้งดังกล่าว ผ่านทางคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) แต่เดิม เป็นที่มาของปัญหาที่เกิดขึ้น

แม้ต่อมา คสช.จะแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ในส่วนที่เกี่ยวกับองค์กรที่บริหารงานบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และขั้นตอนในการเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไปบางส่วน แต่ปัญหาหลักยังคงอยู่ เพราะนายกรัฐมนตรียังคงมีอำนาจเสนอชื่อ และ/หรือ ให้ความเห็นชอบในเรื่องการแต่งตั้งเช่นเดิม

พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และประกาศ คสช. เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ กำหนดให้มี ก.ต.ช.เป็นองค์กรในการกำหนดและกำกับนโยบาย และมี ก.ตร.เป็นองค์กรรับผิดชอบในการบริหารงานบุคคล ทั้งสององค์กรมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ

ก.ต.ช.มีอำนาจให้ความเห็นชอบการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ตามรายชื่อที่นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน ก.ต.ช.เสนอ และ ก.ตร.มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตั้งแต่รอง ผบ.ตร.ลงมาจนถึงผู้บังคับการ (ผบก.) จะเห็นได้ว่า ฝ่ายการเมืองเข้ามาควบคุมกิจการตำรวจทั้งหมด ที่ผ่านมานั้น องค์คณะของ ก.ต.ช.และ ก.ตร.จากภาคส่วนอื่น ปฏิบัติหน้าที่เปรียบเสมือน “ตรายาง” ให้กับฝ่ายการเมืองหรือผู้มีอำนาจเท่านั้น เพราะอยู่ภายใต้การปกครองบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี

ปัญหาขององค์กรในการบริหารงานบุคคลของตำรวจ เกิดจากการที่มีคณะกรรมการทำหน้าที่บริหารงานบุคคลซ้ำซ้อนกัน 2 คณะคือ ก.ต.ช. และ ก.ตร. มีนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าสูงสุดของฝ่ายบริหาร (ฝ่ายการเมือง) เข้ามานั่งเป็นประธาน

วิธีการปฏิรูป

จัดทำแนวทางปฏิรูปกิจการตำรวจในเรื่องความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลของตำรวจจากการแทรกแซงทางการเมือง ดังนี้

1.การปรับปรุงองค์ประกอบ ก.ตร. ทำให้ ก.ตร.เป็นองค์กรบริหารงานบุคคลของตำรวจเพียงองค์กรเดียว อิสระ ปราศจากจากการถูกครอบงำของฝ่ายการเมือง เป็นองค์กรในการรักษากฎกติกาต่างๆ ในการบริหารงานบุคคลตามระบบคุณธรรม มีอำนาจหน้าที่ให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. และตรวจสอบติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของ ผบ.ตร.ด้วย

2.การปรับปรุงองค์ประกอบของ ก.ต.ช. กำหนดนโยบายการบริหารงานกิจการตำรวจเพียงอย่างเดียว มุ่งเน้นนำนโยบายของรัฐบาลมาปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม และเกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ให้แก้ไขเรื่องอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ ผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ก.ตร.แทน

3.การทำให้กระบวนการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.เป็นไปโดยปราศจากการครอบงำจากผู้มีอำนาจทางการเมือง เป็นที่ยอมรับจากทั้งผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา อันจะเป็นการ “สร้างความสง่างาม” ในการดำรงตำแหน่ง กำหนดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงาน ผบ.ตร.ตามช่วงเวลา โดย ก.ตร.

กรอบการปฏิรูปทั้ง 3 ประเด็น มีแนวทางการแก้ไข ดังนี้

1.การปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของ ก.ตร. ให้มีความเป็นกลางในการบริหารงานบุคคล อิสระจากการถูกครอบงำของฝ่ายการเมือง ทำหน้าที่รักษากฎกติกาต่างๆ “ตรงไปตรงมา” ทั้งนี้ ให้อำนาจหน้าที่เพิ่มเติมให้ ก.ตร.เป็นผู้พิจารณาการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ด้วย เพื่อให้การบริหารงานบุคคลใน ตร.เป็นหนึ่งเดียว ทำนองเดียวกับคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ของสำนักงานอัยการสูงสุด

กำหนดองค์ประกอบของ ก.ตร.ใหม่ ให้มี 16 คน ดังนี้

ประธาน ก.ตร.คัดเลือกจากอดีตตำรวจระดับรอง ผบ.ตร.หรือเทียบเท่าขึ้นไป (ยศ พล.ต.อ.) โดยให้ตำรวจระดับ ผกก.หรือเทียบเท่าขึ้นไป (ยศ พ.ต.อ.ขึ้นไป) ลงคะแนนเลือก

ผบ.ตร. เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กรรมการโดยตำแหน่ง จตช. รอง ผบ.ตร.หรือเทียบเท่า (ยศ พล.ต.อ.) เลือกมา 6 คน โดยให้ตำรวจระดับ ผกก.หรือเทียบเท่าขึ้นไปลงคะแนนเลือก อดีตตำรวจตำแหน่ง ผบช.หรือเทียบเท่าขึ้นไป (ยศ พล.ต.ท.ขึ้นไป) เลือกมา 3 คน โดยให้ข้าราชการตำรวจระดับตำแหน่ง ผกก.ลงคะแนนเลือก ผู้แทนจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) 1 คน ผู้แทนจากวุฒิสภา 1 คน ผู้มีความรู้สาขาต่างๆ เช่น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นต้น โดย ก.ตร.ที่เหลือสรรหามา 2 คน มีวาระคราวละ 2 ปี และดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน

ผู้ดำรงตำแหน่งประธาน ก.ตร.และ ก.ตร.ที่เลือกมาจากอดีตข้าราชการตำรวจต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปี แต่ไม่เกิน 70 ปี ทั้งนี้เพื่อไม่ให้อดีตข้าราชการตำรวจที่จะมาดำรงตำแหน่งใน ก.ตร.มีอิทธิพลต่อผู้ใต้บังคับบัญชา จึงกำหนดให้เว้นระยะเวลาไว้ 5 ปีหลังจากเกษียณอายุราชการ

2.การปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของ ก.ต.ช. แก้ไขปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของ ก.ต.ช.ให้เหลือเพียงเรื่องของการกำหนดทิศทางนโยบายการบริหารราชการในกิจการตำรวจเป็นสำคัญ ส่วนเรื่องการพิจารณาแต่งตั้ง ผบ.ตร. ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ก.ตร.แทน กำหนดองค์ประกอบของ ก.ต.ช. ให้มีนายกรัฐมนตรีเป็นฝ่ายการเมือง และเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารเข้ามาเป็นประธานใน ก.ต.ช.

องค์ประกอบของ ก.ต.ช. ควรต้องให้มีภาคส่วนต่างๆ เข้ามาเป็นกรรมการเพิ่มเติม ประกอบด้วย ฝ่ายการเมืองและหน่วยที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ และจากภาคประชาชน เพื่อพิจารณากำหนดนโยบายในการทำงานขององค์กรตำรวจเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และอำนวยความยุติธรรมในทางอาญาให้กับประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กำหนดองค์ประกอบ ก.ต.ช. 11 คน มีนายกรัฐมนตรี ประธาน รองนายกรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย รองประธาน ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม อัยการสูงสุด ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้แทนจากสภาทนายความ ผู้ทรงคุณวุฒิจากวุฒิสภา ผู้แทนจากกรรมการสิทธิมนุษยชน เป็นกรรมการ และ ผบ.ตร. เป็นกรรมการ/เลขานุการ

ดังนั้น เพื่อลดปัญหาการแทรกแซง เมื่อปรับอำนาจหน้าที่และองค์ประกอบ ก.ต.ช.และ ก.ตร. การแต่งตั้ง ผบ.ตร.จึงควรดำเนินการโดย ก.ตร.แต่เพียงองค์กรเดียว โดยมีขั้นตอน ดังนี้

1.ก.ตร.พิจารณาคัดเลือกจาก จตช. รอง ผบ.ตร. หรือเทียบเท่า (ยศ พล.ต.อ.) เข้าสู่กระบวนการสรรหา โดย ก.ตร. ด้วยการแสดงวิสัยทัศน์ และให้ ก.ตร.พิจารณาคัดเลือกผู้เหมาะสม เหลือ 1 รายชื่อ และนำให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อดำเนินการตามขั้นตอน แต่งตั้งเป็น ผบ.ตร.ต่อไป

2.กรณีที่นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วไม่เห็นชอบกับรายชื่อดังกล่าว ให้ส่งรายชื่อกลับไปยัง ก.ตร. พร้อมด้วยเหตุผลให้สรรหาใหม่ หาก ก.ตร.ไม่เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี และมีมติยืนยันรายชื่อเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวน ก.ตร.ที่เข้าร่วมประชุม ให้ส่งรายชื่อกลับไปยังนายกรัฐมนตรี และให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการตามขั้นตอนแต่งตั้งต่อไป แต่ถ้ามติไม่ถึง 3 ใน 4 ของจำนวน ก.ตร.ที่เข้าร่วมประชุม ให้ ก.ตร.เริ่มกระบวนการสรรหาใหม่

3.ก.ตร.ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงาน ผบ.ตร. ตามหลักเกณฑ์ในการประเมินและระยะเวลาที่กำหนด หากผลการปฏิบัติงานไม่ผ่านการประเมิน จะต้องส่งผลการประเมินดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อทราบและพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร

4.หากตำแหน่ง ผบ.ตร.ว่างลง ให้ ก.ตร.สรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.ต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image