‘ข่มขืน’ เท่ากับ ‘ประหาร’ กับบางเรื่องที่ยังไม่โอเค

‘ข่มขืน’ เท่ากับ ‘ประหาร’ กับบางเรื่องที่ยังไม่โอเค

ทันทีที่ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (18) ของมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา “(18) “กระทำชำเรา” หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น”

รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมโทษจำคุก และโทษปรับ และหากทำให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย “ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต”

นับเป็นพัฒนาความก้าวหน้าของกฎหมาย ที่สังคมให้ความสนใจ และยินดีกับโทษสูงสุดในกรณีดังกล่าว

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อห่วงใยในกฎหมายฉบับนี้ ที่คนทำงานด้านเด็กและสตรีที่คลุกคลีกับปัญหาความรุนแรงทางเพศมานับ 10 ปี มีความห่วงใย

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมออกมานั้น มีความก้าวหน้าในหลายเรื่อง มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ดีขึ้น เช่น การเพิ่มโทษต่างๆ หรือเรื่องการบันทึกภาพหรือเสียงการกระทำชำเราหรือการอนาจารเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ รวมถึงการนำไปเผยแพร่ หรือส่งต่อภาพหรือเสียง เป็นความผิด ที่ต้องได้รับโทษ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะเด็จเป็นกังวลคือ “คอนเซ็ปต์” ของตัวบทกฎหมาย โดยเฉพาะ “คำนิยาม” ที่ระบุว่า “กระทำชำเรา หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น”

Advertisement

จะเด็จระบุว่า คอนเซ็ปต์ค่อนข้างแคบ จะทำให้เรื่องอื่นแคบตามมา โดยเฉพาะเรื่องนิยามที่ระบุว่า ข่มขืนกระทำชำเรา มีเฉพาะ “การใช้อวัยวะเพศ” เท่านั้น ซึ่งมันไปย้อนหลังแบบเดิม นิยามว่าใช้อวัยวะเพศสอดใส่ แคบไป เพราะจากการทำงานของมูลนิธิฯ ผู้ที่ผู้ข่มขืนมีหลายกรณี เช่น ใช้นิ้วสอดใส่ ซึ่งมันมีรูปแบบอื่นด้วย

“นิยามแบบนี้ เป็นการย้อนหลังกลับไปทำให้นิยามการข่มขืนแคบลง จะทำให้ผู้ที่ถูกกระทำในลักษณะอื่นเสียสิทธิไป ทั้งที่ความรุนแรงไม่ได้ต่างกัน เป็นการลดทอนการกระทำความรุนแรง ซึ่งตรงนี้ เราห่วง เพราะถ้าไม่ใช่ตามคำนิยาม ก็จะนำไปสู่การอนาจาร พอเป็นเพียงการอนาจาร เราไม่รู้ว่า โทษความหนักเบาจะไปถึงไหน”

จะเด็จบอกอีกว่า การแก้ปัญหาข่มขืนไม่ใช่การแก้แค่เรื่องประหารชีวิตอย่างเดียว เพราะอย่าลืมว่า ถ้ามองแค่เรื่องการลงโทษ มันไม่ได้แก้ปัญหาเชิงราก หรือต้นเหตุสำคัญ

“ต้นเหตุของปัญหาคือ ทัศนคติชายเป็นใหญ่ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย เกิดจากความไม่ยับยั้งชั่งใจของผู้กระทำ ต้องการแสดงอำนาจบางอย่าง บางคนเสพยา บางคนดื่มแอลกอฮอล์ก่อน แล้วกระทำ เราต้องแก้โจทย์นี้ อย่าคิดแค่ต้องให้ฆ่าคนข่มขืน แต่ไม่ได้ฆ่าคนคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหา ต้องฆ่าความคิดนี้ด้วย หรือทำความคิดนี้ให้จางลงไปจากสังคมไทย ให้คนเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน”

“ฆ่าคนแล้ว แต่ความคิดนี้ยังอยู่ แล้วเราจะแก้ปัญหายังไง” จะเด็จตั้งคำถาม และว่า สิ่งที่ต้องแก้คือเปลี่ยนทัศนคติ หลักสูตรเพศศึกษา เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ กระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งทำ และปัญหาที่ยังวนเวียนคือเนื้อหาของละครที่ยังตอกย้ำมายาคติผู้ชายเป็นใหญ่ พระเอกข่มขืนนางเอก และสุดท้ายก็กลับมารักกัน

“สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ฆ่าความคิดชายเป็นใหญ่ และถ้าการศึกษา ครอบครัว สังคม ยังมีทัศนคติแบบนี้ ยังเชื่อว่าผู้ชายเหนือกว่าผู้หญิง เคสข่มขืนจะลดลงได้อย่างไร สิ่งที่สังคมต้องมาเรียนรู้ใหม่คือ ต้นเหตุของปัญหาเกิดจากอะไร ไม่ใช่แค่ต้องตายอย่างเดียว”

สุดท้าย จะเด็จฝากไว้อีกหนึ่งประเด็นว่า กฎหมายเรื่องเพศต้องบังคับใช้ให้ได้ แต่ตอนนี้ที่เจอคือยังไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง คดีเพศส่วนใหญ่จบลงที่การไกล่เกลี่ย กฎหมายต้องเป็นที่พึ่งพิงให้กับประชาชนได้ด้วย ไม่ใช่แค่ไกล่เกลี่ย หรือทำให้ผู้กระทำถูกกระทำซ้ำ แต่ต้องซัพพอร์ท เป็นมิตร ต่อให้มีโทษรุนแรง แต่ไม่มีการบังคับใช้ ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

“สังคมต้องเรียนรู้ว่า กฎหมายเป็นแค่เครื่องมือ ไม่ใช่ยาวิเศษทั้งหมด เราจะเห็นว่า กฎหมายหลายตัวออกมาอาจจะดี แต่ประชาชนไม่รับรู้ กฎหมายจะมีความหมายต่อเมื่อประชาชนรับรู้ เป็นเครื่องมือที่จะปกป้อง พิทักษ์สิทธิให้กับเขาได้ แต่ที่ผ่านมา พอกฎหมายเสร็จ ก็จบกันไป ไม่มีการเอามาใช้อย่างจริงจัง” จะเด็จกล่าว

จะเด็จ เชาว์วิไล

ขณะที่ ธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะเพิ่มโทษคดีข่มขืน แต่ในมิติกำหนดโทษสูงสุดคือติดคุกตลอดชีวิต ไม่ใช่กำหนดโทษสูงสุดคือประหารชีวิต ซึ่งยังแปลกใจในกฎหมายปรับปรุงแก้ไขดังกล่าว ที่กลับมาพูดถึงโทษประหารอีกครั้ง หลังจากยกเลิกไปนานแล้ว และพอกำหนดโทษอย่างนี้ ยังไปขัดแย้งกับหลักกฎหมายสากลที่หลายประเทศยกเลิกโทษประหารไปแล้ว

ทั้งนี้ ภาพรวมของกฎหมายที่แก้ไขครั้งนี้ ถือว่าปรับปรุงได้ทันยุคสมัยขึ้น อย่างประเด็นการละเมิด ล่อลวง รุมโทรมเด็กและผู้หญิงแล้วถ่ายคลิปแบล็กเมล์ กฎหมายตัวนี้ได้มาคุ้มครองด้วย จะทำให้การไปร้องทุกข์ของ

ผู้เสียหายจากนี้เป็นเรื่องง่ายขึ้น จากที่เคยเป็นเรื่องยากของผู้หญิง

“ส่วนตัวยังคิดว่าการเพิ่มโทษคดีข่มขืนอย่างเดียว คงไม่ตอบโจทย์ปัญหาในภาพรวม แต่ต้องมีมาตรการอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย ตั้งแต่การให้มีการเรียนการสอนในโรงเรียน ที่จะสอนถึงการเคารพให้เกียรติกัน การไม่ทำร้าย แสวงหาผลประโยชน์แก่ผู้หญิง ซึ่งจำเป็นต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ รวมถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาสูงสุด อย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผู้กระทำมักอ้างว่าตัวเองทำไปโดยไม่มีสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ ทำให้เด็กและผู้หญิงถูกกระทำมากที่สุด ก็อยากให้มีการควบคุมการขาย พร้อมมีมาตรการที่เข้มข้น เหมือนมาตรการเมาแล้วขับติดคุกทันที”

และเพื่อแก้ปัญหาผู้ทำผิดติดคุกแล้วออกมากระทำซ้ำๆ เธอยังเสนอให้มีหลักสูตรบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขังในเรือนจำ เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยอาจมีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขเข้ามาช่วยออกแบบหลักสูตรและส่งคนมาดูแล ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำได้แล้ว

“แต่ปัจจุบันยังไม่มีเสียที ตลอดจนการย้ำถึงความชัดเจนทำผิดคดีข่มขืนไม่มีการอภัยโทษใดๆ ทั้งสิ้น ก็จะช่วยแก้ปัญหาในภาพรวมได้” ธนวดีกล่าว

แม้จะเห็นด้วยในหลายเรื่องของกฎหมายนี้ แต่ธนวดีก็มีข้อสงสัยอย่างหนักถึงการจัดทำกฎหมายว่า

“ทำไมไม่เชิญองค์กรผู้หญิงไปประชุมรับฟังความคิดเห็น เพราะแม้บางเรื่องเป็นเรื่องน่ายินดี แต่บางเรื่องก็ไม่โอเคจริงๆ”

ธนวดี ท่าจีน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image