ตำรายาวัดราชโอรสฯ การแพทย์แผนไทยสมบัติชาติ

“ในอดีต คนไทยเมื่อมีไข้จะใช้สมุนไพรพื้นบ้านเป็นหลัก ประกอบด้วย รากคนทา รากมะเดื่อชุมพร รากย่านาง รากชิงชี่ และรากท้าวยายม่อม ซึ่งล้วนเป็นภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่ควรรักษาไว้ สมุนไพรเหล่านี้ล่าสุดกลายเป็น 1 ในตำรายาไทยที่ถูกบรรจุใน “จารึกตำรายาวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร” เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นตำรายาชาติแล้ว… นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บอกในวันประกาศคุ้มครองจารึกตำรายาชาติ

“ตำรายาชาติ” เกิดจากความต้องการการคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย เนื่องจากที่ผ่านมา มีตำรับตำรายามากมายที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง และถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างมหาศาล หลายตำราถูกต่างชาตินำไปใช้ ซึ่งน่าเสียดายมาก ด้วยเหตุนี้ รัฐมนตรีว่าการ สธ.จึงอาศัยมาตรา 17 พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2552 ออกประกาศคุ้มครองตำรับยาแผนไทยหรือตำราการแพทย์แผนไทยที่มีประโยชน์หรือคุณค่าในทางการแพทย์หรือการสาธารณสุขเป็นพิเศษ ขณะนี้ได้มีการประกาศไปแล้ว 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ประกาศตำราศิลาจารึกวัดพระเชตุพน จำนวน 380 แผ่น (1,061 ตำรับ) เป็นตำรับยาแผนไทยของชาติ 2.ประกาศตำราการแพทย์แผนไทย จำนวน 8 เล่ม (2,252 ตำรับ) ซึ่งเป็นตำราต้นสาแหรกที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และ 3.ประกาศศิลาจารึกวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร จำนวน 50 แผ่น จากเดิมมีถึง 92 แผ่น

kon01290559p3

นพ.สุริยะบอกว่า สำหรับศิลาจารึกวัดราชโอรสารามราชวรวิหารนี้ ได้รวบรวมแผ่นศิลาจารึกวัดราชโอรสฯ จำนวน 50 แผ่น มีตำรับยาชาติกว่า 186 ตำรับ ซึ่งเป็นสูตรยารักษาโรคต่างๆ อาทิ จารึกตำรายาแผ่นที่ 35 เป็นยาแก้สันนิบาตอุทรโรค หรือโรคท้องมาน ซึ่งเป็นภาวะที่มีน้ำขังอยู่ในช่องท้องจำนวนมาก โดยตำรายาจะประกอบด้วย รากตองแตก ลูกมะขามป้อม ลูกสมอไทย ดีปลี แก่นสน รากจิงจ้อ ลูกสมอพิเภก เทียนสัตตบุษย์ เหง้าขิง และผักโขมหิน นอกจากนี้ ในจารึกตำราแผ่นที่ 9 เป็นยาแก้ริดสีดวง อาทิ เหง้าขิง เทียนข้าวเปลือก ดอกกานพลู ลูกจันทน์ เทียนแดง เทียนดำ ลูกกระวาน เทียนดำ เป็นต้น จารึกตำรายาแผ่นที่ 40 ยาบำรุงโลหิตสตรี อาทิ เทียนข้าวเปลือก ลูกกระวาน ขอนดอก ดอกกานพลู ดอกจันทน์ ฯลฯ

Advertisement

จารึกทั้ง 50 แผ่นนี้ ได้ถูกขึ้นทะเบียนคุ้มครองตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขไว้ทั้งหมดแล้ว หากผู้ใดประสงค์จะใช้ประโยชน์สามารถนำไปใช้ได้ แต่ต้องขออนุญาตกับกองคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและพื้นบ้านไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ หรือติดต่อ Call Center 0-2591-7007 เพราะหากนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต จะถือเป็นการละเมิด มีโทษตามมาตรา 78 พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542

kon01290559p2

“หากมีการละเมิดนำสูตรยาดังกล่าวไปใช้จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับอีกไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น หากต้องการนำไปใช้ประโยชน์ขอให้ดำเนินการตามขั้นตอนให้ถูกต้อง” นพ.สุริยะกล่าวทิ้งท้าย

Advertisement

นอกจากนี้ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ยังได้จัดพิมพ์ตำราชุดจารึกดังกล่าว จำนวน 1,000 เล่ม และแจกจ่ายแก่ห้องสมุด และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ เพื่อจะได้สะดวกสำหรับผู้อ่านที่ต้องการเข้าถึงสาระเกี่ยวกับตำรายาไทย ถือเป็นการอนุรักษ์ไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานสืบต่อกันไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image