ที่มา | มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | เบญจมาศ เกกินะ |
สํารวจผลงานการศึกษาในช่วงปี 2558 ก่อนเข้าสู่ปีวอก 2559 ต้องถือว่ายังไม่ก้าวหน้ากว่าปีที่ผ่านมามากนัก เป็นเพราะปัจจัยทางการเมืองที่ยังไม่นิ่ง รวมถึงยังมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงปลายปี ทำให้การทำงานในบางเรื่องต้องหยุดชะงัก ไม่เกิดความต่อเนื่อง โดยช่วงแรกตั้งแต่กลางปี 2557-กลางปี 2558 รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่ง “บิ๊กเข้” พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย
รองนายกรัฐมนตรี มานั่งกุมบังเหียนการศึกษา ซึ่งถูกมองว่าทำงานค่อนข้างล่าช้า โดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษาที่ดูเหมือนจะเร่งเครื่องเร็วในช่วงปลายปี 2557-ต้นปี 2558 ทั้งเดินหน้ายกเครื่องการปฏิรูปการศึกษา สั่งทบทวนโครงสร้าง ศธ. ปรับโครงสร้างเวลาเรียน ปรับหลักสูตร พัฒนาการจัดการอาชีวศึกษา โดยทั้งหมดเป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการศึกษาทั้งคุณภาพการเรียนการสอน คุณภาพหลักสูตร คุณภาพครูและคุณภาพเด็ก
แต่ก็มาแผ่วลงช่วงกลางปี 2558 ทำให้ผลงานไม่เข้าตา ประกอบเริ่มมีกระแสข่าวว่าการทำงานระหว่างบิ๊กเข้กับรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.บางคนเริ่มไม่เข้าขา ทำให้การปรับ ครม.ประยุทธ์ 1 มีชื่อ “บิ๊กเข้” ไปเป็นรองนายกรัฐมนตรี ส่ง “บิ๊กหนุ่ย” พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ขาบู๊จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.แทน และให้นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ในขณะนั้น พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุผลปัญหาด้านสุขภาพ และดึง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ จากผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.แทน ส่วน
“บิ๊กน้อย” พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ ยังนั่งแท่นเสมา 2 เช่นเดิม
สำหรับผลงานชิ้นโบแดงในขณะที่ พล.ร.อ.ณรงค์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ฝากไว้คือ การสางปัญหาทุจริตที่ถือว่าเดินหน้าได้ค่อนข้างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดย ศธ.เป็นกระทรวงแรกที่นายกฯใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาแก้ไขปัญหาทุจริตในสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) องค์การค้า และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ซึ่งถูกเหลือบไรการศึกษาเกาะกินจนเน่าเฟะ และที่ผ่านมาเรื่องนี้ไม่มีใครกล้าแตะทั้งที่รู้ปัญหาดี ทำได้เพียงแค่ซุกกลับไปใต้พรม เพราะหากทำอะไรลงไปย่อมกระทบต่อครู ซึ่งเป็นฐานเสียงทางการเมืองที่สำคัญ!!
ดังนั้นเมื่อ “บิ๊กหนุ่ย” เข้ามารับไม้ต่อจาก “บิ๊กเข้”
ในช่วงเดือนสิงหาคม 2558 จึงถูกจับตามองว่าจะสางปัญหาทุจริตต่ออย่างไร โดยในช่วง 2 เดือนแรกของการทำงาน “บิ๊กหนุ่ย” แทบไม่ได้แตะเรื่อง
ดังกล่าว แต่ไปเน้นงานปฏิรูปการศึกษาตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ล่าช้าในช่วงที่ผ่านมา โดย
นายกฯสั่งการให้ ศธ.ดำเนินการเรื่องต่างๆ ให้เร็วและต้องเห็นผลสัมฤทธิ์ในเดือนกันยายน 2559 ที่เหลือส่งให้รัฐบาลต่อไป รวมถึงต้องทำให้ประชาชน สังคมพึงพอใจ ลดภาระที่ไม่จำเป็นของ ศธ.ลง เร่งปรับหลักสูตรตำราแต่ละกลุ่มให้เหมาะสม การพิมพ์ตำราต้องคุ้มค่า ผลิตคนให้ทันความต้องการของประเทศ ปรับหลักสูตรทำให้เด็ก ครู ผู้ปกครอง มีความสุข ใช้สื่อการสอนกระตุ้นผู้เรียนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ ลดความเหลื่อมล้ำ จัดการศึกษาให้ทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ นำระบบไอซีทีเข้ามาใช้จัดการเรียนการสอนและไม่ใช่เรียนเพื่อสอบ แต่เรียนให้ได้ทักษะชีวิต
โดยงานแรกที่สร้างกระแสให้ “บิ๊กหนุ่ย” เป็นที่กล่าวขานคือ นโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ตั้งเป้าแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา ให้เด็กเรียนอย่างมีความสุข ได้ทำกิจกรรมมากขึ้น โดยให้เด็กเลิกเรียนวิชาการมาทำกิจกรรมนอกห้องเรียน ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งเดินเครื่องไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) รวมจำนวนทั้งสิ้น 4,100 โรงเรียน เหตุที่ต้องเดินหน้านโยบายนี้เพราะผลการวิเคราะห์ทั้งของ สพฐ.และหน่วยงานอื่นๆ ชี้ชัดว่าเด็กไทยเรียนวิชาการมากเกินไป แต่ผลการเรียนกลับตกต่ำลง เห็นได้ชัดจากรายงาน Universal Basic Skills What Countries Stand To Gain ของ Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) ล่าสุดที่วิเคราะห์และจัดอันดับการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายใน 76 ประเทศทั่วโลก ปรากฏว่าประเทศไทยไม่ติดอันดับ 20 ประเทศแรกที่จัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้ดีที่สุด ทั้งที่ในภูมิภาคเอเชียมีหลายประเทศติดอันดับ ทั้งสิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน และที่น่าจับตาคือเวียดนาม ที่อยู่ในอันดับที่ 12 ขณะที่ประเทศไทยตกไปอยู่อันดับที่ 47 อันดับดีกว่าประเทศมาเลเซียอยู่ไม่มากนัก ผลการจัดอันดับที่ออกมาไม่เป็นที่น่าแปลกใจนัก ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดอันดับการจัดการศึกษาในระดับนานาชาติของหน่วยงานอื่น ก็พบว่าไทยอยู่ในอันดับรั้งท้าย เท่ากับว่าการพัฒนาของเราหยุดนิ่ง ขณะที่ประเทศอื่นๆ กำลังเดินไปข้างหน้า…
แน่นอนว่านโยบายเรื่องนี้มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ฝ่ายที่เห็นด้วยก็มองว่าจะทำให้เด็กไม่ต้องเรียนเครียดและไม่จำเป็นต้องเรียนเนื้อหามากเกินไป และบางเรื่องเด็กสามารถค้นคว้าเองได้จากอินเตอร์เน็ต ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ก็เกรงว่าเด็กจะทิ้งห้องเรียนไปเรียนพิเศษ เพราะต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้ผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังมีเรื่องความพร้อมของครู ซึ่งทุกวันนี้เน้นสอนตามเนื้อหาวิชาเป็นหลัก ทำให้อาจจะปรับตัวไม่ทัน ซึ่งจากการตรวจราชการ ผลการดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าวของโรงเรียนทั่วประเทศก็พบแล้วว่าครูยังไม่มีความพร้อม โดยยังไม่สามารถปรับเนื้อหาวิชาการที่เด็กเรียนมาประยุกต์เป็นกิจกรรมที่เสริมทักษะเด็กได้ตามเป้าหมายของ ศธ. ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจากนี้ พล.อ.ดาว์พงษ์จะปรับกลยุทธ์และรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร…
อีกเรื่องที่โดดเด่นคือ การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่พบว่ามีมูลหนี้พุ่งสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท โดยร่วมมือกับ
เจ้าหนี้หรือหน่วยงานที่ปล่อยกู้ 4 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ธนาคารออมสิน โครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) และกองทุนเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครู หาแนวทางแก้ปัญหา โดยธนาคารออมสินเสนอโครงการ
รีไฟแนนซ์โดยใช้เงิน ช.พ.ค.มาค้ำประกันเงินกู้รอบ 2 ซึ่งคงต้องจับตาดูว่ามาตรการนี้ ครม.จะเห็นด้วยหรือไม่ ส่วนเจ้าหนี้อื่นๆ คาดว่าต้นปี 2559 น่าจะมีความชัดเจนออกมา
ขณะที่การปรับโครงสร้าง ศธ. หลังจากหยุดชะงักไปช่วงหนึ่งเพราะนายกฯมีนโยบายไม่ให้มีการปรับโครงสร้างในช่วงรัฐบาล คสช. หากจำเป็นก็ขอให้เป็นการปรับเล็ก ดังนั้นแผนการต่างๆ ที่วางไว้ในช่วงที่ “บิ๊กเข้” บัญชาการ ศธ. จึงต้องพับเก็บลง แต่ก็มีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า “บิ๊กหนุ่ย” เสนอรื้อโครงสร้าง ศธ.ครั้งใหญ่ โดยกลับไปเหมือนเดิม ก่อนที่จะมีการปรับโครงสร้างกระทรวง ทบวง กรมเมื่อ 10 กว่าปีก่อน มีปลัด ศธ.เป็นผู้บริหารระดับ 11 เพียงคนเดียว ส่วนหน่วยงานอื่นๆ ให้แยกออกมาเป็นกรมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของปลัด ศธ. แต่ก็ถูกคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซุปเปอร์บอร์ดการศึกษา ที่มีนายกฯเป็นประธาน ตีกลับไปให้ทำความเข้าใจกับหน่วยงานในกำกับก่อน เพราะทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ค้านเสียงแข็งว่าไม่เห็นด้วยกับรูปแบบดังกล่าว จึงทำให้เรื่องนี้ถูกเก็บเข้าลิ้นชักตามเคย แต่ที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือ การปรับเล็ก เพิ่มกรมวิชาการขึ้นมาดูแลหลักสูตรโดยเฉพาะ และการควบรวมอาชีวศึกษารัฐและเอกชนเข้าด้วยกัน
ส่วนการพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษานั้น
“บิ๊กหนุ่ย”ไม่ได้เข้าไปแตะมากนักโดยเรื่องนี้ถือว่า “บิ๊กเข้” จัดระบบไว้ค่อนข้างดี ทำให้ยอดนักเรียนอาชีวะเพิ่มขึ้นจากปี 2557 เกือบ 30% ขณะที่หน่วยงานที่ไม่เห็นภาพการพัฒนาและถูกทิ้งไปในช่วงนี้คือ งานอุดมศึกษา จากที่พอจะเห็นแสงสว่างในช่วงที่นายกฤษณพงศ์เข้ามาดูแล แต่เมื่อถูกปรับออก ก็ทำให้งานโครงการต่างๆ หยุดนิ่ง แม้รัฐบาลจะพูดตลอดว่าให้ความสำคัญกับอุดมศึกษา ในฐานะที่เป็นกำลังสำคัญในการผลิตกำลังคนตามความต้องการของประเทศควบคู่ไปกับอาชีวะ โดยจะผลักดันให้มีมหาวิทยาลัยวิจัย ยกระดับมหาวิทยาลัยเป็น World Class University ก็ยังไม่เห็นแรงหนุนที่เป็นรูปธรรม แม้จะมีการปลุกกระแส หยิบเรื่องตั้งกระทรวงอุดมศึกษามาพูดถึงบ้าง แต่ก็ยังไม่มีการสานต่อที่ชัดเจน
ขณะที่ พล.อ.สุรเชษฐ์เรียกว่าผลงานไม่คืบหน้าไปจากเดิม ทำเฉพาะเรื่องการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ไม่มีการริเริ่มนโยบายใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการศึกษา เช่นเดียวกับ นพ.ธีระเกียรติ ที่มาแรงในช่วงเดือนแรกที่รับตำแหน่งกับโปรเจ็กต์ยกระดับความสามารถด้านภาษาอังกฤษ แต่ก็ยังไม่เห็นผล ขณะที่งานด้านอุดมศึกษาที่ดูแลก็ไม่เห็นการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม
สรุปภาพรวมสำหรับ 4 เดือนแรกของทีม
“บิ๊กหนุ่ย” ถือว่าไม่ขี้เหร่ พอมีผลงานให้เห็น สร้างแรงกระเพื่อมได้บ้าง แต่ก็ไม่น่าประทับใจเท่าที่ควร คงต้องจับตาดูต่อไปว่าปี 2559 จะเกิดการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งทีม “บิ๊กหนุ่ย” คงต้องเร่งสปีดมากหน่อย เพราะมีเส้นตายส่งงานนายกฯภายในเดือนกันยายน 2559 โดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษาที่ย่ำอยู่กับที่มาหลายปี รวมถึงการสางปัญหาทุจริตใน ศธ.ที่สังคมฝากความหวังว่ารัฐบาล คสช.จะใช้อำนาจที่มีขจัดเหลือบไรที่หาผลประโยชน์กับวงการครูออกไปได้
ไม่ใช่ปล่อยให้เงียบหาย กลายเป็นมวยล้มต้มคนดู ไม่ต่างจากรัฐบาลที่มาจากการเมือง