“โกวิท สัจจวิเศษ” แจงปฏิรูปประกันสังคม เพิ่มสิทธิทำฟันให้ผู้ประกันตน

นายโกวิท สัจจวิเศษ

หมายเหตุ – นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ชี้แจงกรณีการที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) อยู่ระหว่างศึกษาการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะบริการด้านทันตกรรมที่จะให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงบริการได้มาก ขึ้น อาทิ ปรับค่าบริการทันตกรรมจาก 600 บาทต่อปี เป็นจ่ายตามจริง และไม่ต้องสำรองจ่าย

– ปัจจุบันสิทธิรักษาพยาบาลของประกันสังคมเป็นอย่างไร

ใน เรื่องการรักษาพยาบาลนั้น เฉลี่ยอัตราเหมาจ่ายต่อหัวประมาณ 3,000 บาทต่อคนต่อปี สปส.ใช้วิธีจ่ายเงินให้โรงพยาบาลคู่สัญญา ซึ่งมีทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน แบ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐ 150 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 80 แห่ง แต่โดยรวมมีเครือข่ายประมาณกว่า 2,300 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยหลักการบริการทางการแพทย์ ผู้ประกันตนจะต้องรักษาฟรีในโรคต่างๆ แต่มีบางโรค เช่น เปลี่ยนอวัยวะ เสริมความงาม ฯลฯ ไม่รวมด้วย สำหรับคุณภาพของสถานพยาบาลนั้น หากเป็นโรงพยาบาลรัฐไม่มีปัญหา แต่ในส่วนของโรงพยาบาลจะต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานคือ มี 100 เตียง มีแพทย์อย่างน้อย 12 สาขา แพทย์ประจำหลักๆ 4 สาขา ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

– มีการบริหารงบประมาณกองทุนรักษาพยาบาลอย่างไร

Advertisement

ใน เรื่องการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ สปส.จะเหมาจ่ายตามจำนวนหัวประชากรให้โรงพยาบาลเฉลี่ยปีละ 30,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งจ่ายให้สถานพยาบาลโดยตรง และส่วนหนึ่งจ่ายให้ผู้ประกันตนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน อุบัติเหตุ อุปกรณ์ต่างๆ อีกส่วนเป็นการจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนปีละ 31,000 บาท อาทิ คลอดบุตร 6,800 ล้านบาท ทันตกรรม 570 ล้านบาท ทุพพลภาพ 660 ล้านบาท เสียชีวิต 1,500 ล้านบาท สงเคราะห์บุตร 6,500 ล้านบาท ชราภาพคือบำเหน็จบำนาญ 6,000 ล้านบาท ว่างงาน 5,400 ล้านบาท รวมเหมาจ่ายให้สถานพยาบาลและผู้ประกันตน 6 หมื่นกว่าล้านบาท แต่ สปส.เก็บเงินสมทบทั้งจากนายจ้าง ลูกจ้าง ประมาณกว่า 1 แสนล้านบาท หลายคนไม่เข้าใจก็มองว่า สปส.ยังเหลือเงินอีก 4 หมื่นกว่าล้านบาท แต่จริงๆ ตรงนี้เราเก็บไว้สำหรับบำนาญชราภาพ เพราะตัวบำนาญชราภาพมันจะทวีเพิ่มจ่ายขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนอายุสูงขึ้น และสิทธิประโยชน์นี้จะเกิดผลนาน หากคิดเฉพาะบำนาญอย่างเดียว ยกตัวอย่าง เก็บสมทบลูกจ้างร้อยละ 3 นายจ้างร้อยละ 3 รัฐบาลร้อยละ 1 แต่ในส่วนของรัฐบาลที่จ่ายสมทบร้อยละ 1 นั้น สปส.เอามาจ่ายสงเคราะห์บุตรทั้งหมด ดังนั้น จะเหลือเพียงร้อยละ 6 ซึ่งจ่ายเฉพาะบำนาญอย่างน้อยร้อยละ 20 ตรงนี้เกิดข้อกังวลว่าเงินจะไหลออกระบบมาก และจะทำอย่างไรให้กองทุนมีเสถียรภาพ ถึงเวลาหรือไม่ที่ประกันสังคมต้องแก้ไขในเรื่องอัตราเงินสมทบ โดยจะเก็บเฉพาะบำนาญชราภาพ ให้คนอยู่ได้ ไม่ใช่แค่ได้เดือนละ 2-3 พันบาท ซึ่งไม่พอกับค่าครองชีพ และอีกอย่างคือ สปส.ต้องเร่งรัดในเรื่องการลงทุน จะทำอย่างไรให้การลงทุนได้ดอกผลที่ได้ประโยชน์ตอบแทนสูง เพราะปัจจุบันอาศัยการลงทุนในประเทศเป็นหลัก ผลประโยชน์ตอบแทนจึงไม่สูงมาก

– สปส.ถือว่าทันตกรรมเป็นบริการทางการแพทย์หรือไม่

เริ่ม แรกทันตกรรมไม่ได้อยู่บริการทางการแพทย์ของ สปส. แต่คณะกรรมการประกันสังคมเห็นว่าควรให้ผู้ประกันตน สืบเนื่องจากผู้ประกันตนเป็นวัยหนุ่มสาวต้องมีการอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ซึ่งเมื่อให้ไปแล้วก็เป็นข้อผูกพัน จะเลิกก็ไม่ได้ สิทธิทันตกรรมมีการพัฒนามาเรื่อยๆ จาก 150 บาทต่อปี เป็น 300 บาท 400 บาท และ 600 บาทต่อปี เบิกได้ครั้งละ 300 บาท รวมปีละ 2 ครั้ง แต่ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2559 สปส.ได้ปรับเปลี่ยนให้ผู้ประกันตนสะดวกมากขึ้น เป็นสามารถเบิกได้ครั้งเดียว 600 บาท ส่วนในเรื่องมาตรฐานการรักษา สปส.จะส่งเจ้าหน้าที่ไปสุ่มตรวจการให้บริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลเครือ ข่ายโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ซึ่งหากตรวจสอบว่าโรงพยาบาลใดไม่ได้คุณภาพ จะมีบทลงโทษคือตัดโควต้าผู้ประกันตนให้ลดลง หักเงินบริการทางการแพทย์ รุนแรงที่สุดคือยกเลิกสัญญา

Advertisement

– เป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถเพิ่มสิทธิทันตกรรม

ปัจจุบัน ประกันสังคมเก็บเงินสมทบต่ำมาก ต่ำที่สุดในโลกก็ว่าได้ และคุ้มครองสูงสุดในโลกถึง 7 กรณี แถมทันตกรรมไปด้วยเป็น 8 กรณี ขณะเดียวกันเงินที่เก็บมาส่วนหนึ่งต้องสะสมไว้สำหรับจ่ายบำนาญชราภาพ

– แสดงว่าในอนาคตต้องเก็บเงินสมทบเพิ่ม

ต้อง เข้าใจว่าอัตราการเก็บเงินสมทบที่ร้อยละ 5 สปส.เก็บมานานมาก ขณะที่สิทธิประโยชน์มีการพัฒนาและเพิ่มขึ้นตลอด เช่น เรื่องการคลอดบุตร เดิมได้ 2,500 บาท ปัจจุบันได้ถึง 13,000 บาท ขณะที่สงเคราะห์บุตรหรือทันตกรรม สปส.ก็เพิ่มสิทธิประโยชน์ตลอด แต่สิ่งหนึ่งที่เราลืมไปคือเราไม่เคยเพิ่มอัตราเงินสมทบเลย หากเราประสงค์จะให้กองทุนยืนยาวก็ต้องมีการบริหารที่ใช้คณิตศาสตร์ประกันภัย มาช่วยด้วย ผมเข้าใจข้อเรียกร้อง แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยด้วย

– ได้ศึกษาตัวเลขอัตราเงินสมทบที่ควรจ่ายหรือไม่

องค์การ แรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) แนะนำให้ สปส.เพิ่มอัตราเงินสมทบ โดยยกตัวอย่างในต่างประเทศ 3-5 ปี จะเพิ่มในอัตราเท่าใด ก็ว่าไปตามค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ แต่ปัจจุบันแม้กระทั่งฐานเงินสมทบเราก็ไม่เพิ่ม ในอดีตเรามีฐานเงินเดือนของผู้ประกันตนที่จ่ายสมทบต่ำสุด 1,650 บาทต่อเดือน และสูงสุด 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งใช้มาตั้งแต่ก่อตั้งประกันสังคม ยกตัวอย่าง การนับฐานเงินเดือน 15,000 บาท เมื่อคำนวณสัดส่วนที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายสมทบจะอยู่ที่ 750 บาท ส่วนต่ำสุดฐานเงินเดือน 1,650 บาท เก็บที่ 83 บาท ปัญหาคือ ฐานเงินเดือนต่ำสุด 1,650 บาทนั้น สถานประกอบการบางแห่งที่เอารัดเอาเปรียบลูกจ้างฐานเงินเดือนน้อยๆ ก็ส่งในอัตราที่ต่ำ ก็จะกระทบต่อผู้ประกันตนในระยะยาวคือ 1.เรื่องขาดรายได้ ทุพพลภาพ หรือแม้แต่บำนาญชราภาพ เมื่อเงินเดือนน้อย การจ่ายสมทบน้อย ก็ส่งผลต่อบำนาญในอนาคต ขณะเดียวกันฐานเพดานขั้นสูงก็ต้องเพิ่มด้วย โดยการขยายฐานเงินเดือนของผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบจากเดิมต่ำสุด 1,650 บาทต่อเดือน ควรเพิ่มเป็น 3,500 บาทต่อเดือน และสูงสุด 15,000 บาทต่อเดือน ต้องเพิ่มเป็น 20,000 บาทต่อเดือน แต่ไม่ใช่ว่า สปส.จะเก็บคนที่เงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท แต่สำหรับคนที่ฐานเงินเดือนสูงกว่าก็ควรเก็บสูงขึ้น โดยอัตราการจ่ายยังคงเป็น นายจ้างร้อยละ 5 ลูกจ้างร้อยละ 5 รัฐบาลร้อยละ 2.75 ประเด็นคือ ทุกวันนี้ผู้ประกันตนจ่ายสมทบเดือนละ 750 บาท แต่จะได้คืนเดือนละ 900 บาทไปอยู่ในระบบ ดังนั้น หากเพิ่มฐานเงินเดือนเป็น 20,000 บาท จะจ่ายสมทบ 1,000 บาท และจะได้คืน 1,200 บาท ได้มากกว่าฝากธนาคารอีก ดังนั้น ถ้าเพิ่มตรงนี้ไม่กระทบลูกจ้าง แต่นายจ้างอาจกระทบบ้าง แต่ข้อดีคือ ประเทศไทยยังมีรัฐบาลมาจ่ายเงินสมทบด้วย ในขณะที่บางประเทศรัฐบาลไม่จ่ายให้

เรื่องนี้มีการรายงานต่อคณะกรรมการประกันสังคมแล้ว

– ข้อเรียกร้องเรื่องทันตกรรมมีโอกาสเป็นจริงหรือไม่

ใน ส่วนของข้อเรียกร้อง เช่น ไม่ต้องสำรองจ่าย เพิ่มค่าทำฟันมากกว่า 600 บาท เป็นต้น คณะกรรมการประกันสังคมได้นำมาพิจารณา ระยะแรกจะนำร่องใช้กับ 30 หน่วยบริการของ สปส.ใน 12 เขตของกรุงเทพมหานคร และอีก 18 จังหวัดใหญ่ๆ โดย สปส.จะไปตกลงกับคลินิกเอกชนว่าขอให้เบิกตรงกับ สปส. โดยทำสัญญากับ สปส.ว่า 1.ไม่เก็บเงินผู้ประกันตน 2.ไม่สร้างภาระให้ สปส.ต้องยอมรับกติกา เพื่อไม่ให้เกิดการเบิกซ้ำซ้อน เพราะระบบยังไม่พร้อม และค่ารักษายังคงอยู่ในพื้นฐาน 600 บาทต่อปีไปก่อน ดังนั้น ในพื้นที่หรือคลินิกนำร่อง หากผู้ประกันตนไปรับบริการ 2 ครั้ง รวม 700 บาท ก็ต้องยอมจ่ายเพิ่มเอง 100 บาท ส่วนระยะยาวนั้น ตามที่เรียกร้องคือต้องการฟรี ตรงนี้หากจะฟรีก็ต้องใช้หลักเกณฑ์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ให้ไปใช้บริการในสถานพยาบาลเครือข่าย อย่างไรก็ตาม ในอดีต สปส.เคยทำแบบ สปสช.แล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะผู้ประกันตนร้องเรียนว่ามีปัญหารอคิวนาน 3-6 เดือน หลายคนรอไม่ไหว หลายรายต้องไปรักษาคลินิกเอกชนเอง ทั้งนี้ ในระยะยาวที่ สปส.วางแผนไว้คือ อาจต้องเหมาจ่ายรายหัวให้สถานพยาบาลตามสิทธิ ซึ่งมีข้อแม้ว่าต้องรักษาผู้ประกันตนได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 หมายถึงต้องมีผู้ประกันตนเข้าถึงบริการในสถานพยาบาลตามสิทธิที่ สปส.เหมาจ่ายให้ ส่วนปัญหาการรอคิว ก็ต้องมีการพัฒนาระบบบริการให้ดียิ่งขึ้น ส่วนอัตราเหมาจ่ายรายหัวจะให้ในอัตราที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องคำนวณตามหลักคณิตศาสตร์

– ปัจจุบันมีผู้ประกันตนเข้าถึงบริการทันตกรรมเท่าใด

ผู้ ประกันตนมี 13 ล้านคน เข้าถึงบริการเกือบ 1.8 ล้านครั้งต่อปี ก็ถือว่ามากเช่นกัน ส่วนคนที่ไม่ได้เบิกนั้น แม้จะมี แต่ก็ส่วนน้อย เพราะผู้ประกันตนแม้หยุดงานวันเดียวก็สามารถเบิกได้ เช่น ให้ผู้ประกอบการไปเบิกแทนก็ได้ แต่บางคนอยากได้เงินเลยก็จะมาเองก็มี

– มีโอกาสเพิ่มวงเงินทันตกรรมได้หรือไม่

คณะ กรรมการประกันสังคมไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ก็ต้องทำตามขั้นตอน ขณะนี้ได้ให้คณะกรรมการการแพทย์ศึกษาความเหมาะสมของเงินที่เก็บสมทบว่าหาก เพิ่มแล้วจะมีภาระเพิ่มอีกเท่าใด จะกระทบกับสิทธิประโยชน์อื่นๆ หรือไม่ และก็ต้องดูโรงพยาบาลรัฐที่ให้บริการทันตกรรมด้วย แต่โดยส่วนตัวผมคิดว่าคงเพิ่มให้ได้ แต่เพิ่มเท่าไรไม่สามารถตอบได้ ส่วนที่มีข่าวว่ามีการเสนอเพิ่มเป็น 900 บาทต่อปี นั้น คณะกรรมการการแพทย์ศึกษาและเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคม ทั้งนี้ ปัจจุบันคณะกรรมการการแพทย์ตั้งขึ้นโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงเชื่อมั่นว่ามีความเป็นกลางแน่นอน ไม่ได้อิงกับภาครัฐหรือภาคเอกชน

– มีเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปประกันสังคม

ผม เห็นด้วยควรมีการปฏิรูป แต่ต้องดูว่าปฏิรูปตรงไหน ไม่ใช่บอกแค่เพิ่มสิทธิประโยชน์ หรือขอให้โปร่งใส ไม่ทุจริต เราก็ไม่รู้ว่าโปร่งใสอะไร ทุจริตอะไร แต่ในส่วนที่ผมปฏิรูปมันต้องเห็นชัด เช่น การเพิ่มฐานค่าจ้างก็อยู่ในการปฏิรูปด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ การปฏิรูปโครงสร้างต้องให้เห็นชัด เริ่มตั้งแต่คณะกรรมการประกันสังคมที่เข้ามาต้องแจกแจงทรัพย์สินต่อคณะ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้เกิดความโปร่งใส หรือการลงทุนควรแยกหน่วยลงทุนเป็นอิสระหรือไม่ หรือปฏิรูปกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จะทำอย่างไรให้โปร่งใสขึ้น ลดอำนาจของคณะกรรมการประกันสังคมไม่ให้มาเป็นกรรมการ ส่วนที่บอกว่าจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมนั้น ไม่ว่าใครจะเข้ามาอยู่ในระบบก็ต้องผ่านกระบวนการสรรหาทุกคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image