ธรรมนูญประชาชน ยกระดับ ‘ชีวิต’ สู่ความเสมอภาค

ธรรมนูญประชาชน ยกระดับ ‘ชีวิต’ สู่ความเสมอภาค

ธรรมนูญประชาชน – หากย่อขนาดปัญหาชุมชนในประเทศไทย “ชุมชนตำบลโนนหนามแท่ง” ได้ฉายภาพปัญหาโดยรวมของชุมชนในประเทศไว้ในลักษณะคล้ายๆ กัน อาทิ ปัญหายาเสพติด แอลกอฮอล์ และเป็นปัจจัยกระตุ้นไปสู่ความรุนแรงความทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว ความยากจน การพนัน ระบบคิดชายเป็นใหญ่ที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเพศ ปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ปัญหาการใช้สารเคมีอันตราย ปัญหาอุบัติเหตุ

จากปัญหาของชุมชนจึงเป็นที่มาของรวมตัวกันแก้ปัญหา ด้วยการรวบรวมกฎระเบียบของหมู่บ้าน 14 หมู่บ้าน แล้วหาข้อตกลงร่วมกัน เกิดเป็น “ระเบียบปฏิบัติร่วมกันของตำบลโนนหนามแท่ง” หรือ “ธรรมนูญประชาชนตำบลโนนหนามแท่ง” แก้ปัญหาต่างๆ ทั้งความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ เหล้า บุหรี่ ยาเสพติดลดลง

และมีการต่อยอด ริเริ่มโครงการอื่นๆ ในหมู่บ้าน เช่น โครงการงานบุญปลอดเหล้า งานบวช งานศพปลอดเหล้า ไม่มีการพนันในงานศพ ปัญหาความรุนแรงในชุมชนก็ลดลงเช่นกัน

Advertisement

พรณรงค์ ปั้นทอง ผู้ประสานงานศูนย์การเรียนรู้ ลด ละ เลิกเหล้า ลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก หนึ่งในชาวบ้านที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการลุกขึ้นมาจัดการปัญหาด้วยตัวเองและแสวงหาแนวร่วมเพื่อร่วมกันหาทางออกในชุมชน ซึ่งก่อร่างขึ้นหลังจากเขาได้ร่วมกิจกรรมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลในพื้นที่ กล่าวว่า

การมีธรรมนูญประชาชน นอกจากจะยกระดับสุขภาวะชีวิตของชาวบ้าน ทั้งสุขภาพอนามัย กาย จิตใจของคนในชุมชนในครอบครัว ผลต่อเนื่องที่ตามมายังรวมถึงการลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และส่งเสริมความเท่าเทียมหญิงชาย ผู้หญิงที่ผ่านพ้นความรุนแรงในครอบครัว มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น เช่น เรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์ การเสริมทักษะอาชีพให้ผู้หญิง กับบทบาทในการดูแลความมั่นคงทางอาหารและทรัพยากรของชุมชน ซึ่งให้เกิดมิติความเสมอภาคระหว่างหญิงชายที่ได้เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในชุมชน

Advertisement

“ถือเป็นการต่อยอดจากการทำงานของธรรมนูญประชาชนอย่างเห็นผลและสอดคล้องกับวิถีชีวิต” พรณรงค์กล่าว

ด้าน นลินี กินาวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านคำน้อย อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ขยายภาพการทำงานของธรรมนูญประชาชนร่วมกันกับชุมชนว่า จุดเริ่มต้นของธรรมนูญ เริ่มเมื่อปี 2547 โดยสาธารณสุขจับมือกับชุมชนทำเรื่องสุขภาพ คุณภาพชีวิต

“ธรรมนูญเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น ส่วนจะสำเร็จได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับประชาชนผู้ปฏิบัติ เขียนแล้วต้องปฏิบัติ รวมถึงจัดกิจกรรมกระตุ้นตลอดเวลา โดยการประชุมเครือข่ายอาสาสมัคร อสม.และอาสาสมัคร กลุ่มอื่นๆ เป็นประจำ เพื่อประเมินและติดตามสถานการณ์การบังคับใช้ธรรมนูญในตำบลและแก้ไขปัญหาแต่ละหมู่บ้าน เพื่อให้เขาไม่ลืม เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ รับรู้ ร่วมกัน เดินหน้าไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป” นลินีทิ้งท้าย


 

ติดตามข่าวบันเทิงไลฟ์สไตล์ กับ Line@มติชนนิวเจน

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image