ถก ‘แก่งกระจาน’ เป็นมรดกโลกยังยืดเยื้อ คณะผู้แทนไทยทำงานหนัก หวังเจรจาชี้แจงให้เป็นผลดีที่สุด

การพิจารณา “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” เป็นมรดกโลก ยังยืดเยื้อ ต่อไปอีก คณะผู้แทนไทยทำงานอย่างหนัก หวังเจรจาชี้แจงให้เป็นผลดีต่อประเทศไทยในที่สุด

วันที่ 7 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีสำนักข่าวจำนวนมาก เช่น เพจ เฟชบุ๊กของคสช.กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ได้พากันแชร์ข่าว โดยอ้างเว็บไซต์ข่าว จากสำนักข่าว cnn ว่า กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการประกาศว่าขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว ซึ่งความจริงคณะกรรมการมรดกโลกยังไม่มีมติในเรื่องกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้เดิมที คณะผู้แทนไทยที่เดินทางไปยัง กรุงบากูประเมินกันว่า วาระการพิจารณาของกลุ่มป่าแก่งกระจานจะแล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม แต่ปรากฏว่า มีผู้คัดค้านกรณีประเทศไทยยังแจกแจงกรณีเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่กระจ่าง ทำให้การพิจารณาวาระนี้ต้องเลื่อนออกไปอีก คณะทำงานคนไทยทั้งหมด รวมทั้งกลุ่มสื่อมวลชนจึงต้องเลื่อนการเดินทางกลับประเทศไทยออกไปก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวทีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 43 ที่กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน นั้นล่าสุดคณะผู้แทนไทย นำโดย นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีเอกอัครราชฑูตไทยประจำกรุงปารีส และนางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ยังพยายามวางแผนชี้แจง แก่กลุ่มคณะกรรมการมรดกโลก ที่จะลงมติว่า กลุ่มป่าแก่งกระจานควรได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ทั้ง 21 ประเทศ อย่างต่อเนื่อง หลังจากการพิจารณา เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมาประธานการประชุมเห็นว่า ยังไม่ได้มติที่ชัดเจน จึงสั่งพักการพิจารณาวาระไปก่อน และให้ตั้งคณะทำงาน 6 ประเทศ ออสเตรเลีย นอร์เวย์ อินโดนีเซีย คิวบา ตูเนเซีย และคูเวต เพื่อหารือนอกรอบนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จนขณะนี้กลุ่มป่าแก่งกระจานของไทย ก็ยังไม่สามารถหยิบยกขึ้นพิจารณา ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นไทยได้ขอยื่นเอกสารแก้ไขข้อมูลเพิ่มเติม ถึงการแก้ปัญหาทั้งเรื่องพื้นที่ และสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์ ให้กับคณะกรรมการ 21 ประเทศ โดยชี้แจงว่า ประเทศไทยมีข้อกฎหมายในการจัดการเรื่องนี้ลงตัว เป็นที่พอใจของชาวกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่โดยจากการชี้แจงมีกลุ่มที่สนับสนุนที่เห็นความพยายามว่าไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่แล้ว เช่น อินโดนีเซีย บราซิล คิวบา จีน ส่วนกลุ่มที่เห็นพ้องกับไอยูซีเอ็น คือ ออสเตรเลีย และนอร์เวย์ ที่ยังติดใจกับการแก้ไขปัญหา เรื่องสิทธิมนุษยชน อยู่ สำหรับประเด็นเขตแดน ได้ข้อสรุปชัดเจนร่วมกับเมียนมาร์ โดยที่เมียนมาร์ ได้ขึ้นชี้แจงสนับสนุนไทยด้วย

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างรอคณะกรรมการหยิบวาระการพิจารณา กลุ่มป่าแก่งกระจานควรขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกหรือไม่นั้น คณะผู้แทนไทยยังใช้เวทีประชุมกรรมการมรดกโลก ขอเสียงสนับสนุนจากประเทศภาคีสมาชิก เพื่อหวังว่าประเทศไทยได้รับเลือกเป็นกรรมการมรดกโลก อีกครั้ง หลังจากที่ว่างเว้นมานานโดยจะมีการเลือกตั้งในตำแหน่งที่ว่างลง ช่วง วันที่27-28 พฤษศจิกายน 2562 นี้ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image