สัพเพเหระคดี : อย่างนี้ต้องลาออก : โดยโอภาส เพ็งเจริญ

คุณโผงเป็นพนักงานบริษัท ล่าสุดเป็นผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ ค่าจ้างอยู่ที่เดือนละ 49,000 บาท

ระหว่างทำงานไป มีจังหวะคุณโผงใช้คอมพิวเตอร์บริษัท อินเตอร์เน็ตบริษัทเปิดเข้าดูเว็บโป๊บ้าง เข้าดูราคาหุ้นบ้าง แถมยังมีเวลาว่างไปมีอะไรๆ กับพนักงานหญิงในบริษัทด้วย ทั้งๆ ที่ตัวเองมีครอบครัวอยู่แล้ว

เรื่องราวฉาวขึ้นมาบ่อยๆ เป็นที่อิดหนาระอาใจ มีการพูดคุยตักเตือน แต่ดูจะไม่เป็นผล

สุดท้ายบริษัทเสนอให้คุณโผงพิจารณาตัวเองลาออก

Advertisement

วันหนึ่ง บริษัทโดยผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล เรียกคุณโผงเข้าไปพบและแจ้งว่า

“ผมนำเช็คมาให้ 3 เดือน ไม่ต้องมาทำงานอีก จะจ่ายเงินถึงวันสิ้นปีนี้ แต่ต้องช่วยเซ็นเอกสารฉบับนี้ให้ผมด้วย เพื่อไปยื่นกับทางบัญชีว่าคุณได้รับเช็คเงินสดนี้แล้ว”

คุณผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลยื่นหนังสือให้คุณโผงลงลายมือชื่อในหนังสือ มีสาระหลัก คือ แจ้งความประสงค์ที่จะลาออกโดยรับเช็คเงินจำนวน 141,000 บาทไป

Advertisement

คุณโผงขีดฆ่าข้อความในหนังสือว่า “ ข้าพเจ้าจะไม่มีการเรียกร้อง ฟ้องร้องหรือกระทำการใดเพื่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือเสียหาย” แล้วคุณโผงลงลายมือชื่อในหนังสือลาออกนั้น

คุณโผงรับเช็คไปแล้วออกไป ต่อมาได้ยื่นฟ้องบริษัทว่าถูกบีบให้ลาออก บริษัทเลิกจ้าง จ่ายค่าชดเชยไม่ครบ ขอเรียกค่าชดเชย 180 วัน เป็นเงิน 294,000 บาท ซึ่งบริษัทจ่ายให้มาเพียง 147,000 บาท (หักภาษี 6,000 บาท รับจริง 141,000 บาท) ขอบังคับให้บริษัทจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พร้อมดอกเบี้ย

บริษัทให้การต่อสู้คดีว่า คุณโผงมีความประพฤติไม่เหมาะสม ทำงานขาดประสิทธิภาพ เล่นอินเตอร์เน็ตเข้าดูเว็บไซต์ลามกอนาจาร และเว็บไซต์เกี่ยวกับตารางการซื้อขายหุ้นในเวลาทำงาน มีความประพฤติทางด้านชู้สาวกับลูกจ้างของบริษัททั้งที่มีครอบครัวอยู่แล้ว บริษัทเสนอให้พิจารณาตนเอง ต่อมาคุณโผงแจ้งว่าขอลาออก จึงขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่น่าเชื่อว่าคุณโผงถูกบังคับให้ลงลายมือชื่อในใบลาออก

พิพากษายกฟ้อง

คุณโผงอุทธรณ์คดี

ศาลฎีกาเห็นว่า ที่คุณโผงอุทธรณ์ในทำนองว่า คุณโผงไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวอ้าง

ส่วนการเข้าเว็บไซต์ลามกอนาจารนั้น คุณโผงเข้าไปดูเพียงครั้งเดียว และโดนตักเตือนด้วยวาจาแล้ว และคุณโผงถูกบีบบังคับให้ลงลายมือชื่อลาออกนั้น

อุทธรณ์คุณโผงล้วนเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายกอุทธรณ์คุณโผง

(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 3578/2561)


พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522

มาตรา 54 การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงาน ให้อุทธรณ์ได้เฉพาะในข้อกฎหมายไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ แต่ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม
การอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลแรงงานซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น และให้ศาลแรงงานส่งสำเนาอุทธรณ์แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ฝ่ายนั้นได้รับสำเนาอุทธรณ์
เมื่อได้มีการแก้อุทธรณ์แล้ว หรือไม่แก้อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้ศาลแรงงานรีบส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

(เดิมการอุทธรณ์คดีแรงงานนั้น ให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายไปยังศาลฎีกา แต่ปัจจุบันได้มีการแก้ไขกฎหมายแล้วดังบทบัญญัติข้างบน)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image