อึ้ง! ธ.โลกชี้ธุรกิจไทยขาดแรงงานเหมาะกับงานมากสุดในอาเซียน เหตุการศึกษาเน้นแต่ปริมาณ

เมื่อวันที่ 27 มกราคม นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวในการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแถลงข่าว “รวมพลัง 14 จังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้สู่นวัตกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาตามยุทธศาสตร์จังหวัด” จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และภาคีเครือข่ายจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ 14 จังหวัด ว่า การสำรวจของธนาคารโลกปี 2006-2009 พบว่า ธุรกิจไทยขาดแรงงานที่เหมาะสมกับงานมากที่สุดในอาเซียน ถึงร้อยละ 38.8 และไทยติดอันดับการจ้างแรงงานไร้ฝีมือ ร้อยละ 83.5 ของแรงงานทั้งหมดในสถานประกอบการ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการศึกษาของไทยเน้นเชิงปริมาณ ผลิตคนไม่เหมาะกับงาน และไม่สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แนวโน้มของการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ประกอบไปด้วย 3 ส่วนสำคัญคือ 1.การจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 และประชาคมอาเซียน 2.การศึกษาเพื่อการมีงานทำ และ 3.การศึกษาต้องมีผู้ร่วมจัดการศึกษา ซึ่งเป็นแนวโน้ม หรือทิศทางการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยจากนี้ แต่การปฏิรูปการศึกษาที่เป็นอยู่ทำได้ยาก ดังนั้น การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ใน 14 จังหวัดที่ สสค.ทำอยู่ เป็นพื้นที่ตัวอย่างที่ถอดบทเรียนออกมาแล้วพบว่า เป็นการจัดการศึกษาที่ครบองค์ประกอบทั้ง 3 ด้าน ทำให้เห็นว่าเราจะปล่อยให้รัฐจัดการศึกษา หรือปฏิรูปการศึกษาตามลำพังไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image