สัพเพเหระคดี : ห้ามเล่นไลน์ เฟซบุ๊ก โอภาส เพ็งเจริญ

บริษัทมีระเบียบห้ามพนักงานเล่นโทรศัพท์ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก ฯลฯ ในเวลางาน

คุณนวลนางพนักงานเงินเดือน 16,000 บาท ทำงานมาราวๆ 9 เดือน ได้ใช้โปรแกรมไลน์ในโทรศัพท์ในเวลางาน มีทั้งข้อความเกี่ยวกับงาน และคุยเล่นเป็นส่วนตัว จ๊ะจ๋า ฮาเฮ ส่งดอกไม้ การ์ตูน รูปหัวใจคละเคล้ากันไป

บริษัทเลิกจ้างคุณนวลนาง โดยไม่จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และค่าจ้างเดือนสุดท้ายก่อนเลิกจ้าง

คุณนวลนางมาฟ้องบริษัทต่อศาล ขอให้บังคับให้จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และค่าจ้างเดือนสุดท้ายถึงวันที่ถูกเลิกจ้าง พร้อมดอกเบี้ย

Advertisement

ศาลแรงงานพิพากษา ให้บริษัทจ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้องละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่คุณโผง

บริษัทอุทธรณ์คดี

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงาน วินิจฉัยว่า คุณนวลนางใช้โปรแกรมไลน์ แม้จะพูดคุยในเรื่องงาน และเรื่องส่วนตัวปะปนกัน ก็ถือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) แต่เป็นกรณีไม่ร้ายแรง

Advertisement

เมื่อบริษัทเลิกจ้างคุณนวลนาง โดยไม่ปรากฏว่าได้ตักเตือนเป็นหนังสือก่อน จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเพราะเหตุกระทำผิดซ้ำคำเตือน

จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่คุณนวลนาง ที่ศาลแรงงานให้บริษัทจ่ายค่าชดเชยแก่คุณนวลนาง 16,000 บาท นั้นชอบแล้ว

แต่การที่คุณนวลนางฝ่าฝืนระเบียบดังกล่าว ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่ามีระเบียบนั้น จึงเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย และทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 บริษัทจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลเพียงพอ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 บริษัทจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่คุณนวลนาง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานชั้นต้น

สรุปว่า คุณนวลนางได้ไปเฉพาะค่าจ้างค้างจ่ายเดือนสุดท้าย และค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง

(เทียบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ที่ 17/2560)


พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้

(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วเว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 583 ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522

มาตรา 49 การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทนโดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ประกอบการพิจารณา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image