กรมสุขภาพจิต ผุดช่องทางปรึกษาใหม่ ลดซึมเศร้า เผยคนไทยฆ่าตัวตายถึง 6 รายต่อชม.

กรมสุขภาพจิต เปิดช่องทางปรึกษาออนไลน์ ลดภาวะซึมเศร้า เผย คนไทยฆ่าตัวตายถึง 6 รายต่อชม.

เฟซบุ๊ก แฟนเพจ 1323 ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต ของกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า กรมสุขภาพจิต เพิ่มช่องทางให้การปรึกษาออนไลน์ ผ่านโรงพยาบาลเสมือน (Virtual Hospital) ลดเสี่ยงภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตายในเด็ก-วัยรุ่น ให้วัยรุ่นได้ปรึกษาผ่านแพลตฟอร์มอูก้า ในโครงการกำแพงพักใจ ทั้งนี้ เด็กและวัยรุ่นสามารถนัดพบกับจิตแพทย์ นักจิตวิทยาผ่านช่องทางออนไลน์ โดยสามารถใช้ได้ทั้งบนมือถือและคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องเดินทาง ขอรับบริการเมื่อไรก็ได้ และมีความเป็นส่วนตัวสูง

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถานการณ์โรคซึมเศร้าในปัจจุบัน เป็นปัญหาสำคัญทางสุขภาพ ซึ่งเป็นโรคใกล้ตัวที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากไม่ได้รับการรักษาอาจรุนแรงจนนำไปสู่ปัญหาการฆ่าตัวตาย โดยผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า ในปี 2562 อัตราการฆ่าตัวตายของประชากรไทยรวมทุกกลุ่มอายุ อยู่ที่ 6 รายต่อชั่วโมง ขณะที่กลุ่มวัยรุ่น มีอัตราการฆ่าตัวตายของวัย 15-24 ปี สำเร็จถึง 300 กว่ารายต่อปี นอกจากนี้ พบว่าในผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า 100 คน จะเป็นวัยรุ่น 11 คน และในวัยรุ่น 100 คน จะมีภาวะซึมเศร้า 3 คน

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า หลังจากเปิดให้บริการปรึกษา ผ่านทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เป็นเวลานาน ปัจจุบันสามารถจัดบริการให้ได้ปีละ 200,000 สาย จากการโทรเข้ามามากกว่า 8 แสนสาย คิดเป็น 1 ใน 4 โดยกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน ในปี 2561 นั้น พบว่า ปัญหา 5 อันดับแรก ได้แก่ ภาวะเครียดหรือรู้สึกกดดัน , ปัญหาความรัก, ปัญหาเรื่องเพศหรือการใช้สารเสพติด, ปัญหาภาวะซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย และ ครอบครัวไม่เข้าใจ ภาพรวมวัยรุ่นยังเข้าถึงบริการน้อย ให้บริการ 9,000 สายในปี 2561 จึงได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นร่วมกับ แอพพลิเคชั่นอูก้า ช่วยให้วัยรุ่นเข้าสู่บริการ มีจิตแพทย์และนักจิตวิทยามากกว่า 50 คน ให้คำปรึกษา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image