ทช.ประกาศพื้นที่ฟื้นฟู 5 จุด เร่งวิจัยสายพันธุ์ “ปะการังทนฟอกขาว”

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์วิภาวดี กรุงเทพ นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พร้อมด้วย ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และ ผศ. ธรรมศักดิ์ ยีมิน นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเล ร่วมประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ทางทะเล ครั้งที่ 5 ภายใต้ชื่อ “50 ปีทะเลไทย ก้าวไกล สู่ความยั่งยืน”

นายศักดิ์ดา กล่าวว่า สถานการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นทั่วทะเลไทย ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศทรัพยากรทางทะเลและการท่องเที่ยวในแนวปะการังที่มีมูลค่ามากกว่า 40,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมีผลต่อรายได้ของประเทศ การแก้ปัญหาโดยการออกมาตรการควบคุมปิดแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลนั้นสามารถช่วยให้ระบบนิเวศปะการังฟื้นตัวจากการฟอกขาวได้ แต่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางทะเลอย่างมาก ทช.จึงต้องหามาตรการแก้ปัญหาปะการังฟอกขาวที่อาจเกิดขึ้นอีกใน 5-10 ปีข้างหน้า เช่น ฟอกขาวโมเดล ประกาศพื้นที่ฟื้นฟู 5 จุด ได้แก่ เกาะมันใน เกาะในชุมพร เกาะในพังงา ภูเก็ต และกระบี่ โดยเลือกพื้นที่ที่ประกาศในมาตรา 17 ของ พ.ร.บ.ทช. หรือ พื้นที่ที่ถูกประกาศปิดของกรมอุทยานฯ เพื่อให้ทีมนักวิจัยได้ลงพื้นที่ศึกษาและฟื้นฟูระบบนิเวศปะการัง

รองอธิบดีทช. กล่าวอีกว่า พร้อมทั้งจัดตั้งงบประมาณเพื่อสนับสนุนการวิจัยปะการังสายพันธุ์ที่สามารถทนทานต่ออุณหภูมิของน้ำทะเล รวมถึงสาหร่ายสายพันธุ์พิเศษที่สามารถลงเกาะปะการังเพื่อให้รอดจากภาวะฟอกขาวได้ ด้านแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่ปิดในพื้นที่ต่างๆ จะต้องมีการศึกษาในทางวิชาการเพื่อติดตามสถานภาพปะการังให้เป็นที่ชัดเจนก่อนจะเปิดให้ท่องเที่ยวได้ต่อไป

ด้าน ผศ.ธรณ์ กล่าวว่าสำหรับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่มีสาเหตุมาจากสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำพื้นที่ทะเล เช่น เขื่อนกั้นปากร่องน้ำ กำแพงริมฝั่ง และโครงสร้างเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะที่ไม่มีหลักการทางวิชาการรองรับ ในอนาคตจะมีข้อบังคับออกมาให้ก่อนการตัดสินใจในการก่อสร้างทุกครั้ง จะต้องยึดหลักวิชาการที่ผ่านการศึกษาวิเคราะห์มาอย่างดีเพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง และในอนาคตควรสนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อวางแผนและแก้ปัญหาที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล โดยให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศหรือ จีสด้าเป็นผู้สนับสนุนข้อมูล โดยเฉพาะการติดตามผู้กระทำผิดในกรณีคราบน้ำมัน มลพิษทางทะเล น้ำเปลี่ยนสี หรือการจัดการแหล่งท่องเที่ยวและทรัพยากรธรรมชาติ

Advertisement

ผศ.ธรรมศักดิ์ กล่าวถึงเรื่องการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเลว่า ในอนาคตอยากให้ทช.ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 เร่งประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเล
อย่างน้อย 3 แห่งให้ได้ภายในปี 2559 โดยตั้งเป้าหมายตามมาตรฐานสากลว่าจะต้องมีพื้นที่คุ้มครองอย่างน้อย 35,000 ตร.กม. หรือร้อยละ 10 ของพื้นที่ทะเลไทย ให้ได้ภายในปี 2570 และอยากให้รัฐบาลสนับสนุนให้มีพ.ร.บ.รักษาผลประโยชน์ทางทะเลและองค์กรต่างๆให้ชัดเจน เพื่อให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image