ฝากการบ้าน รมว.พม.คนใหม่ 5 โจทย์หินชักช้าไม่ได้

ฝากการบ้าน รมว.พม.คนใหม่ 5 โจทย์หินชักช้าไม่ได้

รมว.พม.คนใหม่ – พาเหรดกันเข้าทำงานกันทั่วหน้าตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว สำหรับ “คณะรัฐมนตรี” รัฐบาล “บิ๊กตู่ 2”

เจ้ากระทรวงด้านสังคม “จุติ ไกรฤกษ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็ถือฤกษ์สะดวกเข้ากระทรวงเมื่อวันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งก่อนเข้ากระทรวง รมว.จุติได้เดินสายพบปะกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ภายใต้การดูแลและทำงานร่วมกับกระทรวง พม. แล้ว ทั้งผู้สูงอายุและสตรี

ทว่า…กระทรวงสังคมเป็นกระทรวงที่ทำงานกับคนทุกกลุ่ม ที่ต่างมีปัญหาเร่งด่วน “รอ” เจ้ากระทรวงคนใหม่เข้ามาสะสาง แก้ไข “มติชน” จึงได้รวบรวมความคิดเห็นจาก “คนวงใน” ที่คลุกคลีกับปัญหาเหล่านี้ มาส่งต่อ “แม่ทัพกระทรวง พม.” ที่ต้องลุยแก้ ฝ่าด่านหินครึ่งปีหลัง

Advertisement

ความรุนแรงผู้หญิง-เด็ก แก้เร่งด่วน

จะเด็ด เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ประเด็นเร่งด่วนที่อยากให้แก้ไข คือความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก โดยเฉพาะครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ จากสถิติที่ผ่านมาของมูลนิธิ ที่เก็บจากสื่อในช่วงปีครึ่งปีแรก 2561 มีการฆ่ากัน 242 ราย หรือ 65.9% เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มี 197 ราย หรือ 59.1% เห็นได้ชัดว่าการฆ่ากันลุกลามไปถึงในคนในครอบครัว อีกประเด็นหนึ่งคือ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ที่มีการปรับแก้ไขนิยามของการข่มขืน จากอวัยวะอื่นใด เป็นการใช้อวัยวะเพศสอดใส่ ซึ่งกรณีนี้เกิดปัญหาขึ้นในเคสของมูลนิธิแล้ว เพราะเมื่อไม่ได้ใช้อวัยวะเพศ เจ้าหน้าที่ก็มองเป็นอนาจาร นั่นทำให้การต่อสู้ในศาลมีโอกาสประนีประนอมมากกว่า รวมถึงสภาวะจิตใจของเขาที่ถูกกระทำด้วย นี่ถือเป็นช่องว่างที่สำคัญ

ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลมองว่า จากปัญหาความรุนแรง การเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้หญิง เป็นปัญหาสำคัญ ทำอย่างไรจึงจะทำให้เจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและโรงพยาบาลเป็นมิตร คนไม่มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว และใช้กลไกที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ในการลดความรุนแรงลด คุ้มครองไม่ให้ถูกกระทำซ้ำ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ครอบครัวฉบับใหม่ มีกลไกหนึ่งที่เปิดให้ชุมชนมีหน่วยเฝ้าระวังในพื้นที่ ป้องกันความรุนแรงและถูกกระทำซ้ำ ซึ่งนี่เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้คนได้รู้ เพื่อป้องกันความรุนแรง ต่อจากนั้นก็เป็นการรณรงค์เรื่องทัศนคติชายเป็นใหญ่

“กระทรวง พม.ไม่เพียงแต่ดูแลผู้หญิง แต่ยังรวมถึงเด็ก ผู้พิการ และคนชรา กระทรวงทำงานเกี่ยวข้องกับคนที่ประสบปัญหาต่างๆ เยอะ ในฐานะรัฐมนตรี อยากให้มองงานเชิงยุทธศาสตร์ที่จะดึงพลังคนเหล่านี้ออกมา เพราะงานของกระทรวงคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน งานเยียวยาก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่การเอ็มพาวเวอร์คนเหล่านี้ให้มีพลังลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคมไปพร้อมกับกระทรวง ถือเป็นเรื่องสำคัญ”

Advertisement

จะเด็ดฝากว่า อยากเห็นรัฐมนตรีคนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมเข้ามาทำงานร่วมกัน เพราะการทำงานด้านสังคม ภาครัฐทำอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยเอ็นจีโอด้วย และช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา มีโอกาสเข้าถึงรัฐมนตรีน้อยมาก มีเพียงการสื่อสารกับข้าราชการประจำเท่านั้น

จะเด็ด เชาวน์วิไล

ผลักดัน “ผู้สูงอายุ” วาระแห่งชาติ

ศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สังคมสูงวัยเป็นเรื่องของคนทุกวัย ตั้งแต่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ในขณะที่กำลังแรงงานซึ่งจะเป็นคนผลิตก็ลดลง อนาคตปริมาณคนรุ่นใหม่ก็น้อยลง การทำงานของกระทรวง พม. ในยุคต่อไปจึงควรต่อยอดจากกรอบที่ได้ทำไปแล้ว และเร่งผลักดันให้เดินหน้าต่อ อาทิ การขับเคลื่อนให้ประเด็นผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ, แผนแม่บทรองรับสังคมสูงวัย และแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่…

ศ.ดร.วิพรรณกล่าวต่อว่า ประเด็นที่ค่อนข้างห่วงคือ จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุเป็นพลังให้นานที่สุด และอยากให้มองผู้สูงอายุเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในชีวิต อย่ามองว่าเป็นภาระ เพราะพวกเขาสามารถเข้ามาช่วยเสริมในกำลังแรงงานที่ขาดแคลนได้ ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมผู้สูงอายุให้เข้าถึงในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น สุขภาพ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และการให้บริการทางสังคมต่างๆ และเตรียมความพร้อมคนกลุ่มอายุ 40-59 ปี ให้เป็น “ผู้สูงอายุที่พึ่งพาตัวเองได้” และพร้อมเป็นพลังของสังคม

“การเคลื่อนทัพต่อไปสำหรับเรื่องคนเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นฐานการพัฒนาทั้งหมด ฉะนั้นจุดที่กระทรวงจะต้องเปลี่ยนคือการทำงานที่อาจจะต้องมีการบูรณาการระหว่างกรมภายในกระทรวงให้ได้ และบูรณาการข้ามกระทรวง เพราะเรื่องผู้สูงอายุ กระทรวง พม.เป็นแกนหลักในการประสานงานกับกระทรวงอื่น โดยอาจจะต้องดึงส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม เพราะใกล้ชิดกับผู้สูงอายุมากที่สุด ตลอดจนบูรณาการกับภาคเอกชน เป็นการทำให้สังคมอยู่ได้อย่างเกื้อกูลกันในยุคสังคมสูงวัย” ศ.ดร.วิพรรณกล่าว

ศ.ดร..วิพรรณ ประจวบเหมาะ

ปัญหาพม.มีคนทำงานแต่ทำไม่ครบวงจร

สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ที่ปรึกษากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ปัญหาเดิมก็ยังอยู่ แต่ปัญหาใหม่ก็เพิ่มขึ้นตลอด เหมือนเป็นมะเร็งแต่กินยาแก้ปวด และปัญหาหลักของกระทรวง พม.ตอนนี้ คือ “มีคนทำงานแต่ทำไม่ครบวงจร” เพราะไม่ทำงานให้บริการประชาชน หรือให้บริการทางสังคมที่แท้จริง ยกเว้น 1.เอาเงินเอาของไปให้ 2.มีสถานสงเคราะห์

“ซึ่งไม่ตอบโจทย์การทำงานของกระทรวง พม. เพราะกระทรวงนี้ควรจะมีคนทำงานที่มีความรู้ความสามารถในด้านการให้บริการทางสังคมมาทำ แต่กลับมีการทำงานเป็นกรม แล้วมุ่งไปที่การทำยุทธศาสตร์ ทำให้ขาดคนทำงานในพื้นที่ การไปช่วยเด็กที่ประสบปัญหาแล้วเอามาไว้ที่สถานสงเคราะห์แล้วจบ ตรงนี้ไม่เรียกว่า “การบริการทางสังคม” เพราะการบริการทางสังคมที่แท้จริง ควรที่จะต้องส่งเสริมให้คนที่เข้าช่วยเหลือพึ่งพาตัวเองได้ แต่ถ้าเขาพึ่งพาตนเองไม่ได้ก็ต้องให้ครอบครัว สังคมแวดล้อม และชุมชนช่วยกันดูแล จากนั้นจึงขยายไปให้อาสาสมัคร หรือกลไกทางภาครัฐ อปท. เข้าช่วยเหลือตามลำดับ”

“จุดนี้จึงเป็นเรื่องแรกที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะหากมีคนมาทำงานตรงนี้เขารับทราบปัญหาก็เสนอขึ้นไปเองว่าต้องแก้ไขอะไรต่อไป” สรรพสิทธิ์ย้ำ

“ปัญหาเด็กที่ร้ายแรงมากคือ “เด็กไม่มีคนดูแลใกล้ชิด” ทั้งจากครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และรัฐบาล ปล่อยให้เด็กต้องเผชิญโชคชะตาด้วยตัวเอง อาทิ พ่อแม่ไม่มีทักษะในการเลี้ยงดูลูก เจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญในการดูแลอบรมพ่อแม่ให้ดีก็ไม่มี เพราะฉะนั้นจึงมีเด็กที่ไปกระทำความผิดอยู่บ่อยครั้ง เรียกว่าถูกทิ้งจากทุกระบบ” สรรพสิทธิ์กล่าว

สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์

รัฐแก้ปัญหาปลายทาง ฝากปรับทัศนคติเจ้าหน้าที่

อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน เอ็นจีโอที่ขับเคลื่อนงานด้านคนไร้ที่พึ่ง กล่าวว่า สถานการณ์คนไร้ที่พึ่งไม่ได้ลด แต่เพิ่มขึ้น โดยมีรูปแบบที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่เราเข้าใจว่าคนไร้ที่พึ่งอยู่ตามถนน แต่เดี๋ยวนี้มีอยู่ตามบ้านและชุมชน อาทิ เด็กไม่มีเงินไปเรียนอาศัยอยู่อย่างยากลำบากในชุมชน หรือผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุไม่มีใครดูแล โดยสาเหตุที่ผลักให้คนออกมาไร้ที่พึ่งคือ การไม่รู้สิทธิและสวัสดิการ ขณะที่การแก้ปัญหาของรัฐทุกวันนี้คือปลายทาง ลักษณะเคสบายเคส จึงฝากประเด็นสำคัญถึง รมว.พม.คนใหม่ สร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิและสวัสดิการแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ สามารถไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานไหน เชื่อว่าเมื่อประชาชนมีทางเลือก จะช่วยลดปัญหาการทอดทิ้งคนในครอบครัวเป็นคนไร้ที่พึ่งลงได้ครึ่งหนึ่ง

“สิ่งที่อยากให้ รมว.พม.เข้ามาเปลี่ยนคือ พม.ต้องทำงานเชิงรุก อย่างลงพื้นที่ไปแจ้งเลยว่าประชาชนมีสิทธิและสวัสดิการอะไรบ้าง รวมถึงการทอดทิ้งพ่อแม่ ทิ้งลูกผิดกฎหมายและไม่ควรอย่างไร แล้วจะให้ความรู้ครอบครัวอย่างไร ถึงการดูแลผู้สูงอายุป่วยอัลไซเมอร์ ติดเตียง พลัดหลงจากบ้าน”

“ขณะที่เจ้าหน้าที่เมื่อได้รับแจ้งเหตุแล้ว จะเข้าไปหรือส่งต่อการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วได้อย่างไร ทั้งหน่วยงานในกระทรวงเดียวกันและต่างกระทรวง เพราะทุกวันนี้ระบบมีปัญหามาก กว่าจะช่วยเหลือได้ปัญหาก็ผ่านไปแล้ว ข้าราชการเองก็ไม่ชินกับการทำงานเชิงรุก”

สำคัญที่สุด อัจฉราย้ำว่าต้องพัฒนาทัศนคติผู้ทำงานช่วยเหลือสังคมก่อน สู่การพัฒนาด้านอื่น ถ้าทัศนคติไม่เปลี่ยน งานต่างๆ ก็ไม่เปลี่ยน

อัจฉรา สรวารี

ปรับเพิ่มเบี้ยคนพิการ

ศุภชีพ ดิษเทศ นายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากฝากให้รัฐมนตรีคนใหม่ผลักดันการปรับเพิ่มเบี้ยคนพิการ 800 บาทต่อเดือนต่อคน ที่ปรับเพิ่มครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.2558 ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและให้เพิ่มเติมในส่วนคนพิการที่มีระดับความพิการมากได้มาก โดยตั้งคณะขึ้นมาศึกษา ประเมิความยากง่ายการเข้าสู่สังคมของคนพิการ หากมีความยากจะให้เพิ่มขึ้นไปอีก อาทิ ขึ้นรถเมล์ไม่ได้ ต้องขึ้นรถแท็กซี่เท่านั้น

นายกสมาคมฯกล่าวอีกว่า รวมถึงอยากให้รัฐมนตรีจับมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมคนพิการ ที่จะมีสิ่งแวดล้อม อุปกรณ์ทำงาน และที่พัก รองรับคนพิการมีอาชีพ อย่างประเทศญี่ปุ่นที่มีในหลายเมือง ออสเตรเลียก็มีเช่นกัน

“การจ้างงานคนพิการต่อแรงงานทั่วไป 1 ต่อ 100 ตามมาตรา 33 ใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฯ ทุกวันนี้จ้างงานไม่ได้ เอกชนไม่ยอมรื้อระบบเขา ฉะนั้นต้องคิดใหม่ทำใหม่ เชื่อว่าแนวทางนี้สามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ไกลความจริง”

นายกสมาคมคนพิการฯอยากให้ พม.เดินหน้าสิ่งที่ทำอยู่คือ สร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นยูนิเวอร์แซลดีไซน์ ไม่เพียงแต่สถานที่ แต่ยังรวมถึงระบบขนส่งต่างๆ รวมถึงการให้ท้องถิ่นอีกร้อยละ 90 ออกเทศบัญญัติ เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายคนพิการและท้องถิ่น กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นต้องดูแลคนพิการ

“อยากให้รัฐมนตรีเสนอประเด็นคนพิการเป็นวาระแห่งชาติ เพราะคนพิการยังเข้าไม่ถึงสิทธิอีกมาก ฉะนั้นหากได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เขาก็สามารถพึ่งพาตัวเอง เป็นพลังแก่ครอบครัวและประเทศชาติได้ แต่หากพัฒนาช้า ก็จะทำให้เสียโอกาสไป”

นายศุภชีพ ดิษเทศ

ขณะที่ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้มีการปรับแก้ระเบียบ กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อให้ดำเนินงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการสนับสนุนภาคธุรกิจที่เป็นโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์จ้างงานคนพิการ เพราะปัจจุบันเพียงสอนอาชีพคนพิการ มีทักษะแล้วแต่ไม่มีใครจ้างทำงาน รวมถึงโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ที่รับซื้อผลิตผลของคนพิการทำงานอยู่กับบ้าน

นายต่อพงศ์ เสลานนท์

การบ้าน รมว.พม.คนใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image