เหยี่ยวถลาลม : มติธรรม

“มติ” หรือความเห็นร่วมกันที่ “ยุติธรรม” นั้นอ่านออกได้ เข้าใจไม่ยาก

แม้ในวิถีประชาธิปไตยจะถือเอาตาม “เสียงส่วนใหญ่” แต่ก็ใช่ว่าจะไม่รับฟัง หรือชิงชัง “เสียงส่วนน้อย”

ความแตกต่างหลากหลายได้รับการยอมรับ

สังคมไทยควรสร้างบรรยากาศการแสดงความคิดเห็นอย่างเหตุผล ปลูกฝังค่านิยมที่ “เข้าใจและยิ้มรับ” กับความแตกต่างทางความคิด

Advertisement

มีกรณีฟ้องร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ “ป.ป.ช.” เกิดขึ้น

“หัวหน้าคณะในศาลฎีกา” ซึ่งเป็นเจ้าของคดีมีความเห็นตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า “ป.ป.ช.” เป็นองค์กรพิเศษที่ได้รับความคุ้มครอง ไม่สามารถฟ้องร้องได้

จากมุมมองนี้ ตีความได้ว่า “ป.ป.ช.” มีสถานะคล้ายๆ “รัฏฐาธิปัตย์” ทีเดียว นั่นคือ แตะต้องไม่ได้!

Advertisement

มุมมองนี้ถูกแย้งหรือคัดค้านจาก “ผู้ช่วยผู้พิพากษา” 2 คน ซึ่งเป็น “องค์คณะในศาลฎีกา” ที่เห็นว่า “ป.ป.ช.ต้องถูกฟ้องร้องได้”

ถ้าศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน “ความยุติธรรม” ทั้งหลายต้องไม่ไกลเกินเอื้อม !

เมื่อมี “ความเห็นแย้ง” ในคำพิพากษาขององค์คณะในศาลฎีกา สำนวนคดีจึงถูกส่งถึง นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา

จึงเกิดการประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่ออภิปรายแลกเปลี่ยนถกเถียง

ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มีถิ่นฐานแหล่งกำเนิดมาจากที่ไหน ชาติสกุลปู่ย่าตายายเป็นตาสีตาสายายมียายมาเคยทำนาทำไร่หรือมีบรรพบุรุษสุดคุณูปการ วันนี้อยู่ในระบบเสรีประชาธิปไตย

ในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาทุกคนเสมอกัน

เป็นวัฒนธรรมอันดีที่ควรศึกษาและส่งเสริม

จึงต้องบันทึกไว้ว่า 10 กรกฎาคม 2562 ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีมติ 141 ต่อ 28 เห็นชอบให้ “ป.ป.ช.” ถูกฟ้องร้องได้

“ป.ป.ช.” ไม่ใช่พระผู้พ้นหมดสิ้นแล้วซึ่งมลทินทั้งปวง

ภิกษุสงฆ์หรือนักบวชยังต้องบำเพ็ญศีลปฏิบัติธรรม คณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นใครมาจากไหนถึงจะถือสิทธิพิเศษ “ฟ้องร้องมิได้”

ถ้าลงมือสืบสาว ทุกเรื่องราวในโลกนี้ก็จะรู้จะเห็นตื้นลึกหนาบางที่สะท้อนถึง “ธรรมชาติ” ของความเป็นมนุษย์

คนผู้หนึ่ง เมื่อกล้าตัดสินใจที่จะนั่งเป็น “กรรมการ ป.ป.ช.” เป็นเสาหลักที่เที่ยงธรรม ผดุงความสุจริตก็ต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำ ไม่ใช่ “ขอรับความคุ้มครองพิเศษ” ฟ้องร้อง แตะต้องไม่ได้

อคติทั้งสี่ ไม่เข้าใครออกใคร !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image