ร่วมด้วยช่วยกัน ชาวบึงกาฬผนึกกำลังก่อสร้างระบบกักเก็บน้ำ แก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ชาวบ้านนาแสงสาคร หมู่ 7 ตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ ร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้างระบบสูบน้ำและส่งน้ำด้วยท่อ พีวีซี เพื่อการเกษตร ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลตามโครงการแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ปี2558/2559 โดยผ่านสำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬ ในวงเงิน 1,181,250 บาท เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในหน้าแล้ง สามารถนำน้ำที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์แบบประชารัฐ

นายชวน ปัดสำราญ ผู้ใหญ่บ้านนาแสงสาคร กล่าวว่า จากปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างต่อเนื่องประกอบกับในช่วงฤดูแล้งชาวบ้านในหมู่บ้านนาแสงสาครไม่มีรายได้เสริมเพราะอาชีพหลักคือการทำสวนยางพาราและการทำนา จึงได้ประชาคมหมู่บ้านเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ปี2558/2559 เพื่อจัดทำระบบสูบน้ำและส่งน้ำด้วยระบบท่อ พีวีซี เพื่อใช้ทำการเกษตร ในหน้าแล้ง ให้เกษตรกรสามารถนำน้ำมาใช้เพื่อการเกษตร ปลูกพืชใช้น้ำน้อยได้ เช่น ผักสวนครัว ปลูกดอกไม้ ปลูกข้าวโพด เป็นต้น ปัจจุบันในพื้นที่ของหมู่บ้านมี หนองบ่อ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสาธารณะพื้นที่กว่า 200 ไร่ สามารถกักเก็บน้ำในฤดูฝนได้ถึง 553,000 ลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำสามารถใช้ได้แม้ในหน้าแล้ง และเพียงพอต่อการทำการเกษตร แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเกษตรกรไม่สามารถนำน้ำที่อยู่ในหนองบ่อมาใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากชาวบ้านไม่มีทุนในการทำระบบชลประทาน จึงได้เสนอโครงการดังกล่าว กับทางสำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬและได้รับอนุมัติงบประมาณมาดำเนินงาน

เพื่อก่อสร้างอาคารระบบสูบน้ำโดยใช้เครื่องยนต์ 14 แรงม้า สูบขึ้นไปยัง ระบบกักเก็บน้ำขนาด 1,000 ลูกบาศก์เมตร และปล่อยเข้าระบบส่งน้ำด้วยท่อ พีวีซี ขนาด 8 นิ้ว ระยะทางรวมกว่า 1,000 เมตร แจกจ่ายน้ำให้เกษตรกรครอบคลุมพื้นที่ทำการเกษตรกว่า 500 ไร่ ภายหลังโครงการเสร็จสิ้นจะตั้งเป็นกลุ่มสมาชิก โดยจะคิดอัตราค่าใช้น้ำเป็นรายชั่วโมง/ละ 50-60 บาท รายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายก็จะเก็บไว้เป็นทุนให้กับสมาชิก ซึ่งหากโครงการนี้สำเร็จเกษตรกรที่จะได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้มีไม่น้อยกว่า 300 ครัวเรือน

ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ผ่านเวทีประชาคมหมู่บ้านจึงเห็นความสมัครสมานสามัคคีของคนในหมู่บ้าน ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานอย่างขยันขันแข็งเพื่อการสร้างงานสร้างรายได้ที่มั่นคงในอนาคต พร้อมกันนี้ระหว่างดำเนินการก่อสร้างชาวบ้านยังมีรายได้จากการจ้างแรงงานในพื้นที่โดยได้รับค่าแรงวันละ 300 บาท การทำงานก็ช่วยกันอย่างเต็มที่บางวันทำงานยันมืด แต่ก็ยังไม่มีใครท้อช่วยกันทำงานจนแล้วเสร็จตามหน้างานของแต่ละวัน นี่คือผลจากการทำงานแบบประชารัฐ ประชาชนได้ประโยชน์ 100 เปอร์เซ็นต์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image