เหยียวถลาลม : ที่แท้ก็เป็นเช่นนั้นเอง

ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมาจนถึงวันนี้ 87 ปีผ่านไป ทำไม “คนกลุ่มหนึ่ง” ซึ่งก็เป็นลูกหลานชาวบ้านเช่นเดียวกันยังคิดว่า เชื่อว่า และยังบอกว่า ประชาชนโง่-เลือกนักการเมืองเลว มาปกครองบ้านเมือง

ใช่หรือไม่ว่านั่นเป็นสาเหตุทำให้ประชาธิปไตยไปไม่รอด !

“ทหาร” กลุ่มหนึ่งใช้ “วาทกรรม” นี้เป็นเงื่อนไขในการใช้กำลังพลและอาวุธยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนตลอดมา โดยกล่าวว่า ทำเพื่อปกป้องมิให้ชาติล่มจม

เป็น “ความจริง” ทีเดียวว่ายังคงมี “นักการเมืองเลว” ในทุกระดับ มีการทุจริตคอร์รัปชั่นตั้งแต่ท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ

Advertisement

แต่ก็เป็นความจริงเช่นเดียวกันว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นมิได้จำกัดอยู่แต่ในแวดวงการเมือง

การทุจริตเป็น “พฤติกรรม” ที่หยั่งรากในสังคมไทยมานับร้อยปี

แพร่กระจายอยู่ในทุกสาขาอาชีพ แต่ที่หนักหน่วงรุนแรงและเป็นระบบที่สุดคือ การทุจริตในระบบราชการ !

Advertisement

อาจมี “คนโง่” อยู่จริง นักรัฐประหารจึงยังสามารถใช้ “วาทกรรม” ซ้ำๆ ซากๆ สร้างความชอบธรรมเพื่อเถลิงอำนาจ

ไม่ต้องไปดูกันไกลนัก รัฐประหาร เมื่อเดือน ก.พ.2534 “รสช.” ก็ทำขึงขัง อ้างว่านักการเมืองรุมกินโต๊ะประเทศ

พอยึดอำนาจเสร็จก็วางแผนใช้กลไกประชาธิปไตยชุบย้อมตัว

แต่เกมสืบทอดอำนาจต้องสะดุดด้วยเหตุที่มี “จปร.” ด้วยกันรู้ทัน ชักชวนผู้คนมาชุมนุมประท้วง

“รสช.” เป็นผู้ก่อให้เกิดเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ’35”

เดือน ก.ย.2549 ก่อรัฐประหารอีก ข้ออ้างในการยึดอำนาจอธิปไตยจากประชาชนเหมือนเดิม จากนั้นก็ลงมือเขียนกติกาใหม่ “กีดกัน” ฝ่ายตรงข้ามอย่าให้ได้ผุดได้เกิด

แต่เลือกตั้งปี 2550 ประชาชนก็ยังคงเลือกคนที่รักพรรคที่ชอบอย่างถล่มทลาย

มีเสียงขัดเคืองว่า รัฐประหาร’49 เสียของ

นั่นเป็น “จุดเริ่มต้น” การสมคบคิดและใช้กลอุบายทำลายล้างอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา

วังวนความขัดแย้งไม่มีวันจบ

การต่อสู้กันระหว่างฝ่ายหนึ่งซึ่งถูกประทับตราว่า “โง่” กับอีกฝ่ายที่มีพวกพร้อมอาวุธพร้อมนำไปสู่ รัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ที่มุ่งมั่นลบคำว่า “เสียของ”

ส่งผลให้จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ประเทศยังคงมี “นายกรัฐมนตรี” คนเดิม

เพียงเปลี่ยนจาก “หัวหน้า คสช.” ที่เป็นผู้นำรัฐประหารซึ่งโลกไม่ยอมรับ มาเป็นนายกรัฐมนตรี ผู้เป็น “ผู้นำพรรคตัวจริง”

ที่แม้แต่ “หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ” ยังต้องโค้งคำนับด้วยความเคารพ !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image