สถิติว่างงานเม.ย.พุ่ง 3.9 แสนคน เหตุนายจ้างลดจำนวนพนักงานมากสุด

ภาพจากกองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์การว่างงานในช่วงที่ผ่านมา กองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานได้จัดทำข้อมูล  ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ทำการสำรวจในเดือนเมษายน 2559 ปรากฏว่า   มีกำลังแรงงานประมาณ 38.02 ล้านคน  เป็นผู้มีงานทำ 37.23 ล้านคน ผู้ว่างงานจำนวน 3.96 แสนคน  คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0  และผู้รอฤดูกาล 3.97 แสนคน   เมื่อพิจารณาผู้ว่างงานจากประสบการณ์การทำงาน พบว่าเป็นผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 1.92 แสนคน     และเคยทำงานมาก่อน 2.04 แสนคน ในจำนวนผู้ที่เคยทำงานมาก่อน เคยทำงานอยู่ในภาคการบริการและการค้ามากที่สุดจำนวน 0.92 แสนคน  รองลงมาอยู่ในภาคการผลิต จำนวน 0.85 แสนคน  และภาคเกษตรกรรมน้อยที่สุด จำนวน 0.27 แสนคน

ส่วนสถิติอัตราการว่างงานรายเดือน  ปี 2556-2559 เมื่อพิจารณาสถิติอัตราการว่างงานรายเดือนเปรียบเทียบปี พ.ศ. 2556-2559  จะเห็นได้ว่าในช่วงต้นปี  อัตราการว่างงานจะสูงที่สุดและปรับตัวลดลงต่ำสุดในช่วงปลายปี เนื่องจากโครงสร้างการมีงานทำของแรงงานยังอยู่ในภาคเกษตรกรรม  ซึ่งช่วงต้นปีเป็นช่วงนอกฤดูการเกษตร  ทำให้มีผู้ว่างงานจากภาคเกษตรเพิ่มขึ้น ส่วนช่วงปลายปีอัตราการว่างงานลดลงเนื่องจากเป็นช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิตในภาคเกษตรกรรม  และสถานประกอบการจะเร่งผลิตสินค้าและบริการเพื่อจำหน่ายให้ทันในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและเทศกาลปีใหม่ทำให้มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น จำนวนผู้ว่างงานจึงลดต่ำลงกว่าช่วงต้นปีและกลางปี

สำหรับผู้ว่างงานในเดือนเมษายน 2559  มีผู้ว่างงานจำนวน 3.96 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.04  เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 7.2 หมื่นคน
คิดเป็นร้อยละ 22.23  อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1

ขณะที่สถานการณ์การเลิกจ้าง  พบว่าสถิติผู้ประกันตนที่มาขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเดือนมีนาคม 2559  มีจำนวน 58,425 คน  เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  พบว่าเพิ่มขึ้น จำนวน 5,777 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.97 โดยผู้ถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้น  จำนวน 1,192 คน  หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ  18.64  และผู้ที่ลาออกเพิ่มขึ้น จำนวน 4,585 คน  หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.91  โดยสาเหตุการเลิกจ้างและลาออกจากงานนั้น

Advertisement

เมื่อพิจารณาผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง สาเหตุเนื่องมาจากนายจ้างลดจำนวนพนักงานมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 37.38  รองลงมาได้แก่ นายจ้างปิดกิจการคิดเป็นร้อยละ 35.50 สาเหตุอื่นๆ เช่น สุขภาพไม่ดี หยุดกิจการชั่วคราว คิดเป็นร้อยละ 23.75 ไม่ผ่านการประเมิน/ทดลองงาน  คิดเป็นร้อยละ 2.64  มีความผิด คิดเป็นร้อยละ 0.54  นายจ้างใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย คิดเป็นร้อยละ 0.18 สำหรับผู้ที่ลาออกจากงาน  สาเหตุเนื่องมาจากต้องการเปลี่ยนงานมากที่สุด  คิดเป็นร้อยละ 85.18  รองลงมาได้แก่  สิ้นสุดโครงการ/หมดสัญญาจ้าง  คิดเป็นร้อยละ 5.43  สาเหตุอื่นๆ เช่น ประกอบธุรกิจส่วนตัว  ประกอบอาชีพอิสระ  ค้าขาย  ทำไร่/ทำนา  ดูแลคนในครอบครัว  คิดเป็นร้อยละ  5.04  ต้องการพักผ่อน  คิดเป็นร้อยละ  4.28  เกษียณอายุ คิดเป็นร้อยละ 0.06 และไม่ระบุ  ร้อยละ  0.01

ส่วนผู้ประกันตนที่มาขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน เดือนเมษายน 2559 มีจำนวน 58,425 คน  ได้รับการบรรจุงาน  จำนวน 30,829 คน  ร้อยละการบรรจุต่อผู้มาขึ้นทะเบียน  52.77   อย่างไรก็ตาม ความต้องการแรงงานเดือนเมษายน  2559  ปรากฏว่ามีสถานประกอบการแจ้งตำแหน่งงานว่างมายังหน่วยงาน            ของกรมการจัดหางาน จำนวน  41,117 อัตรา  เป็นชาย จำนวน 5,727 อัตรา หญิง จำนวน 2,941  อัตรา  และไม่ระบุ  จำนวน  32,449 อัตรา  และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่าเพิ่มขึ้นจำนวน 6,969 อัตรา หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.41  เมื่อพิจารณาความต้องการแรงงานจำแนกตามประเภทอาชีพ  พบว่าอาชีพงานพื้นฐาน (แรงงานด้านการประกอบ แรงงานบรรจุภัณฑ์) มีความต้องการแรงงานมากที่สุด  จำนวน  16,189 อัตรา คิดเป็นร้อยละ  39.37  รองลงมาได้แก่ พนักงานบริการ พนักงานขายในร้านค้าและตลาด จำนวน  7,244 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 17.62 เสมียน เจ้าหน้าที่ จำนวน 5,833 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 14.19

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image