ปลัดสธ.เร่งปราบ ‘ยาลดอ้วน’ หลัง 1 ปี 5 เดือนจับแล้ว 18 ราย รวมมูลค่าของกลาง 19 ล้าน

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในรอบปีที่ผ่านมาพบ มีหญิงสาวเสียชีวิต ที่คาดว่ามาจากการกินผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนหลายราย ทั้งพริตตี้ นักศึกษา ล่าสุดนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 5 ย่านนนทบุรี จบชีวิตก่อนวัยอันควร กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) รู้สึกห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง จึงได้กำชับให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำกับดูแลการใช้ผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนอย่างใกล้ชิด พร้อมแจ้งเตือนอันตราย เพื่อคุ้มครองประชาชน โดยผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนในปัจจุบันมักตรวจพบว่า มีการลักลอบใส่สารไซบูทามีนซึ่งเป็นยาที่ประเทศไทยยกเลิกการใช้แล้วตั้งแต่ปี 2553 โดยยาดังกล่าวจะส่งผลทำให้ลดความอยากอาหารลงและอิ่มเร็วขึ้น แต่ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา อย.ได้ตรวจสอบสถานที่ผลิต นำเข้า และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในเขตกรุงเทพมหานคร ช่วงปี 2556-2558 และได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่แสดงข้อบ่งใช้ในการควบคุมหรือลดน้ำหนักส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ปีละ 50 ตัวอย่าง พบว่าในปี 2556 ตรวจพบไซบูทรามีน จำนวน 13 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 26 ปี2557 ตรวจพบ จำนวน 16 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 32 และ ปี 2558 ตรวจพบจำนวน 4 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 8 สธ.จึงได้ร่วมกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ปราบปรามจับกุมผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนที่ผิดกฎหมายดังกล่าวมาโดยตลอด โดยตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 – ปัจจุบัน สามารถจับกุมและดำเนินคดีผู้กระทำผิด จำนวน 18 ราย มูลค่าของกลาง จำนวน 19 ล้านบาท

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การใช้ยาลดความอ้วนจะต้องใช้ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์และเภสัชกรเท่านั้น ประชาชนไม่ควรหาซื้อมารับประทานเอง เพราะมีผลกระทบสุขภาพและชีวิต การใช้ยาลดความอ้วนไม่สามารถทำให้หายจากโรคอ้วน เมื่อหยุดยาน้ำหนักจะกลับขึ้นได้อีก (yo-yo effect) การลดน้ำหนักที่ถูกต้อง คือ การควบคุมอาหาร เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคด้วยการลดแป้ง ลดอาหารหวาน ลดอาหารมัน อาหารทอด และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรมีส่วนช่วย ในการสอดส่องดูแลบุตรหลานที่กังวลเกี่ยวกับเรื่องน้ำหนักตัวมากเกินไป และมีแนวโน้มในการใช้ยาลดความอ้วน ให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ยา ทั้งนี้ ผู้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายมีโทษหลายกรณี เช่น ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท เป็นต้น หากผู้บริโภคพบเบาะแสการโฆษณา การผลิต/จำหน่าย ยาลดความอ้วนผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image