“จับไต๋เรือพร้อมลูกน้อง” ในคลิปดังจับปลาโลมาขึ้นเรือ สารภาพนำไปทำ“โลมาแดดเดียว”

จากกรณีมีการเผยแพร่คลิปข่าวเรือประมงและคนงานในเรือจับปลาโลมา ขึ้นจากมหาสมุทร บริเวณน่านน้ำประเทศมาเลเซีย และมีการใช้ภาษาไทยสื่อสารกันบนเรือ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ก่อนมีการเผยแพร่ภาพในโซเชียลมีเดีย ระหว่างวันที่ 14 และ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมา จนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้เร่งตรวจสอบ จนทราบว่าเป็นเรือประมง “ส.พรเทพนาวี 9 ” ซึ่งถูกระบุว่าขายให้กับนายทุนชาวมาเลเซียไปแล้วกว่า 2 ปี พร้อมเปลี่ยนเป็นเรือสัญชาติมาเลเซีย และคาดว่าจะเปลี่ยนชื่อเป็น “KNF 7779”

กระทั่ง พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผบช.กมค.ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมาย ศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) จึงลงพื้นที่ด้วยตนเอง พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตรวจสอบข้อเท็จจริงและสืบสวนโดยได้ประสานงานกับกรมประมงและทางการมาเลเซีย พร้อมได้ทำการร้องทุกข์ไว้ตามกฎหมาย ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าเมื่อช่วงสาย วันที่ 2 กันยายน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (ผบช.กมค.)ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมาย ศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เปิดเผยว่า จากการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทั้งพยานเอกสารและพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นที่แน่ชัดว่าในเบื้องต้นว่ามีผู้กระทำความผิดเป็นคนไทยมีจำนวน 2 คน คือนายธนัญชัย หรือไต๋หาร มิ่งมิตร อายุ56 ปี ซึ่งเป็นไต๋เรือลำที่เกิดเหตุ และอีกคนคือนายสันติ หรือไต๋ติ บัวผุด อายุ 56 ปี ซึ่งเป็นผู้ช่วยไต๋เรือลำดังกล่าว จึงได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาให้มาพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 2 กันยายน ที่ห้องประชุมพร้อมพินิจชั้น 15 สำนักงานกฎหมายและคดี

ซึ่งพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาทั้งสองตามพ.ร.ก.การประมงฯ มาตรา 66 ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำชนิดที่เลี้ยงลูกด้วยนมสัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด หรือนําสัตว์น้ำดังกล่าวขึ้นเรือประมง เว้นแต่มีความจําเป็นเพื่อการช่วยชีวิตของสัตว์น้ำนั้น ซี่งตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกําหนดชนิดสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ที่ห้ามจับหรือนําขึ้นเรือประมงพ.ศ.2559 ข้อ 2 กําหนดให้สัตว์นํ้าชนิดที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ เป็นสัตว์น้ำที่ห้ามมิให้ผู้ใดจับหรือนําขึ้นเรือประมง ซึ่งรวมถึงโลมาและวาฬทุกชนิด โดยการกระทำผิดดังกล่าว มีโทษตามมาตรา 145 มีโทษปรับตั้งแต่ 3 แสนถึง 3 ล้านบาท

Advertisement

พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวอีกว่า ในชั้นสอบสวนนายธนัญชัย ให้การรับว่าเป็นไต๋เรือ ส่วนนายสันติ ผู้ช่วยไต๋เรือ ก็ได้รับว่าเป็นผู้ช่วยไต๋เรือลำที่เกิดเหตุจริงและผู้ต้องหาทั้งสองยังเป็นผู้สั่งการให้คนงานในเรือลำดังกล่าวเอาโลมาที่ติดอวนจำนวน 30 ตัว ขึ้นมาบนเรือจริง หลังจากนำขึ้นมาแล้วได้นำมาทำอาหาร ประมาณ 4 ตัว เป็นเนื้อแดดเดียว ส่วนปลาโลมาที่เหลือได้โยนทิ้งลงทะเลไป ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้พนักงานสอบสวนจะต้องส่งเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการเปรียบเทียบตามพ.ร.ก.การประมงฯ ดำเนินการพิจารณาเปรียบเทียบผู้ต้องหาทั้งสองตามกฎหมายต่อไป ซึ่งหากผู้ต้องหาไม่มีเงินจ่ายค่าปรับจะต้องถูกกักขัง ไม่เกิน 2 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image