“เลขาครป.” ชี้ รบ.เร่งดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยเร็ว เผยที่ผ่านมาเกิดขึ้นแล้วกว่า 80 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ย. นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เปิดเผยว่า จากกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ค้นพบชิ้นส่วนศพของนายพอละจี รักจงเจริญ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมและสูญหายไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 จนเวลาผ่านไป 5 ปียังไม่สามารถจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้ภายหลังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัว เรื่องดังกล่าวผมมีความเห็น ดังนี้

1. การอุ้มหายเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งรัฐต้องทำหน้าที่ปกป้องและคุ้มครอง แต่ปัญหาอุปสรรคในประเทศไทยคือเจ้าหน้าที่รัฐมักเป็นผู้กระทำการความผิดนั้นเอง เนื่องจากประเทศไทยไม่มีกฎหมาย คุ้มครองและป้องกันการอุ้มหาย ให้มีความผิดเหมือนฆ่าคนตายได้ เจ้าหน้าที่รัฐถึงใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายกระทำความผิดนั้นเสียเอง และมักจะจับกุมเอาผิดผู้มีอำนาจที่รู้เห็นหรือสั่งการไม่ได้

การที่บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย เจ้าหน้าที่รัฐไม่อาจใช้ข้ออ้างดังกล่าวในละเว้นหรือยุติการสืบสวนสอบสวนเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องได้ เรื่องนี้ญาติเคยได้ร้องขอให้ศาลไต่สวนการควบคุมตัวโดยมิชอบเจ้าหน้าที่รัฐ แม้ศาลจะยกฟ้องเนื่องจากไม่มีหลักฐาน กรณีดังกล่าวเป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนว่าควบคุมตัวโดยไม่ชอบ แต่ไม่ตัดอำนาจสอบสวนว่าผู้สูญหายถูกฆาตกรรมหรือไม่ อย่างไร ใครเป็นผู้ฆาตกรรม และหากมีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าใครเป็นคนร้าย ยังสามารถดำเนินคดีต่อคนๆ นั้นได้ จึงขอให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการถึงที่สุด

2. รัฐบาลจะต้องเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย โดยเร็วที่สุด หลังจากประเทศไทยได้รับรองเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวตั้งแต่ปี 2555 หลังจากนั้นวันที่ 10 มีนาคม 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (CED) ไปแล้ว แต่รัฐบาลยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการส่งมอบสัตยาบันสารให้กับเลขาธิการองค์การสหประชาชาติตามข้อกำหนด ภายหลังการอนุวัตรการโดยผ่านกฏหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งเรื่องดังกล่าวยังค้างคาอยู่ในรัฐสภา

Advertisement

ในชั้นการแปรญัตติ ผมขอเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์มากขึ้นตามมาตรฐานอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (CAT) และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (CED) ที่ไทยเป็นภาคี เพราะตามกฎหมายขั้นต้นยังไม่ได้ให้อำนาจหน่วยงานในการเข้าตรวจสอบสถานที่คุมขังอิสระโดยมิชอบ และร่างกฎหมายยังไม่สามารถเอาผิดครอบคลุมถึงผู้บังคับบัญชาที่รู้เห็นหรือสั่งการได้ เป็นเหตุให้เหมือนกฎหมายสมคบคิดให้คนผิดลอยนวล

3. ปัจจุบันมีรายชื่อผู้ถูกบังคับให้บุคคลสูญหายที่อยู่ในการตรวจสอบของคณะทำงานด้านคนหายแห่งสหประชาชาติประมาณ 80 กว่ารายชื่อ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก รัฐบาลไทยต้องรีบจัดการปัญหาเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังเพื่อหาคนกระทำผิดให้ได้โดยเร็ว แต่ปัจจุบันมีข่าวว่ากระทรวงยุติธรรมพยายามลดรายชื่อดังกล่าวโดยการเกลี้ยกล่อมให้ญาติผู้สูญหายได้ถอนรายชื่อออกจากระบบเพื่อแลกกับการเยียวยาซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องในการลดจำนวนผู้ถูกบังคับให้สูญหายในประเทศไทยโดยกระบวนการยุติธรรม รัฐบาลไทยต้องเร่งตรวจสอบเรื่องนี้และหาตัวคนผิดมารับผิดชอบตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นคดีทนายสมชาย นีละไพจิตร นายเด่น คำแหล้ หรือนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และคนอื่นๆ ที่มีข่าวว่าถูกบังคับให้หายไปและปัจจุบันยังไม่พบศพ เนื่องจากเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลไทยในการสืบสวนสอบสวนและแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยตรง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image