พลิกแฟ้ม ฮ.ตก 3 ลำซ้อน ขณะปฏิบัติการ ‘แก่งกระจาน’

การพบเศษกระดูกที่ยืนยันว่าเป็นของ ‘บิลลี่’ กะเหรี่ยงแก่งกระจานผู้สูญหายนานถึง 5 ปี ทำให้คดีความและข้อพิพาทต่างๆอันเกี่ยวเนื่องกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานถูกขุดคุ้ยขึ้นมาทบทวนความทรงจำอีกครั้ง หนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ ตกในผืนป่าแก่งกระจาน จำนวน 3 ลำซ้อน กลายเป็นอุบัติเหตุครั้งสำคัญที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์

เหตุการณ์ดังกล่าว เริ่มขึ้นในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เฮลิคอปเตอร์แบบฮิวอี้ปฏิบัติหน้าที่จับกุมผู้บุกรุกป่าไม้ ในขณะที่สภาพอากาศปิด จึงตกลงสู่ผืนดิน มีผู้เสียชีวิต 5 ราย กองทัพบกส่งทีมไปรับศพประกอบด้วยทหาร 8 นาย นักข่าว 1 คน โดยใช้เฮลิคอปเตอร์แบบแบล็กฮอว์กเป็นพาหนะเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม หลังเลื่อนภารกิจจากวันที่ 18 กรกฎาคมเพราะสภาพอากาศยังคงปิด ทว่า เฮลิคอปเตอร์ทีมรับศพกลับร่วงลงอีกลำ กระแทกพื้นดินแตกกระจาย เสียชีวิตยกลำทั้ง 9 ราย ถูกลำเลียงศพ 2 รายแรกออกมา ส่วนอีก 7 รายมีการส่งเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปแบบ 212 (ฮ.ท.212) (เบลล์ 212) จำนวน 3 ลำไปรับในวันที่ 24 กรกฎาคม ปรากฏว่าลำสุดท้ายตกลงในป่า เพลิงลุกไหม้จนมีผู้เสียชีวิต 3 ราย รอด 1 ราย ศพถูกลำเลียง และรับผู้รอดชีวิตด้วยรถยนต์ โดยมีการทำพิธีทางศาสนาที่จังหวัดกาญจนบุรี

รายงานการกู้ซากและตรวจสอบข้อมูล พบว่าจากกล่องดำที่บันทึกการบินของเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์ก สันนิษฐานว่า เป็นการตกแบบหงายท้องเนื่องด้วย ‘หลงสภาพการบิน’ จึงแตกกระจาย แต่ล้อยางไม่แตก ส่วนเฮลิคอปเตอร์เบลล์ 212 ตกเพราะ ‘เสียการทรงตัว’ และ ‘สูญเสียการบังคับ’

Advertisement

บทสรุปของโศกนาฏกรรมดังกล่าวมีผู้เสียชีวิต 17 ราย โดยเมื่อเฮลิคอปเตอร์ลำแรกตก เดิมไม่สามารถขนศพออกจากป่าได้เพราะฝนตกอย่างหนัก ส่วนลำที่ 2 ซึ่งมีภารกิจไปรับศพ พล.ต.ตะวัน เรืองศรี หัวหน้าหน่วยที่ค้นหาเหตุอุบัติเหตุครั้งแรก กล่าวก่อนเดินทางว่า “ไปด้วยตัวเองเพื่อนำน้อง ๆ ทั้ง 5 กลับมาให้ได้ในวันนี้ เพราะญาติ ๆ ของพวกเขารออยู่” และเมื่อสื่อมวลชนขอติดตามไปด้วย พล.ต.ตะวัน ได้กล่าวอย่างอารมณ์ดีว่า “อย่าไปเลย เดี๋ยวก็ตกกันหมด”

เหตุการณ์นี้ ทำให้กองทัพบกถึงขนาดจัดพิธีทำบุญครั้งใหญ่ เพื่อเรียกขวัญกำลังใจกลับคืนมา

ต่อมา วันที่ 8 สิงหาคม 2554 ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมงานเสวนาหัวข้อ ‘ฮ.ตกกับปัญหาอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน’ โดยกล่าวปฏิเสธการ ‘เผายุ้งข้าวกะเหรี่ยง’ แต่ยอมรับว่า มีการเผาบ้านที่เคยสั่งให้กะเหรี่ยงรื้อและย้ายออก เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์

อีกหนึ่งประเด็นที่พูดกันหนาหูคือ การปะทะกะเหรี่ยงในภาคพื้นดิน จนถูกยิง ฮ. ตก ซึ่ง พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 ออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

นับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่แม้แต่ในคำนำหนังสือ ‘ใจแผ่นดิน’ โดย สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมก็ยังหยิบยกมากล่าวถึงตั้งแต่บรรทัดแรก (อ่าน ย้อนอ่าน คำนำ ‘ใจแผ่นดิน’ เปิดความจริง-ล้างความเท็จ’ กะเหรี่ยงติดอาวุธ รุกป่า ยึดที่ดิน โดย สุรพงษ์ กองจันทึก)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image