เปิดใจปีติ 7 บุคคลในภาพ ถวายงาน”ในหลวง”

เนื่องในโอกาสปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จัดโครงการตามหาบุคคลในภาพแห่งความทรงจำ รวม 7 คน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

โดย สวธ.เชิญบุคคลในภาพที่มีโอกาสถวายงานพระองค์ในการเสด็จฯ ไปทรงงานตามท้องถิ่นภูมิภาคต่างๆ ซึ่งล้วนปีติ ตราตรึง อยู่ในความทรงจำของผู้ที่ได้ถวายการรับใช้ มาถ่ายทอดความรู้สึกในครั้งนั้น พร้อมเข้าร่วมลงนามถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมมหาราชวัง

โดย พระบุญทา ปุญฺญมโน อายุ 87 ปี พระลูกวัดสิงห์ชัย ต.สบตุ๋ย อ.เมือง จ.ลำปาง หรือนายบุญทา แสนดี อดีตผู้ใหญ่บ้านดอนมูล ต.หัวเสือ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง บุคคลในภาพที่ 1 ขณะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรแผนที่ในการเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเคียน บ้านผาแมว ต.หัวเสือ วันที่ 5 มกราคม 2524 เล่าความประทับใจขณะรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ขณะนั้นพระองค์เสด็จฯ มาในพื้นที่บ้านผาแมว ต.หัวเสือ โดยพระองค์ท่านทรงถามอาตมาว่า ที่ตั้งของอ่างเก็บน้ำห้วยเคียนอยู่ตรงไหนของแผนที่ อาตมาถวายรายงาน พร้อมชี้ไปบนแผนที่ทันที พระองค์ไม่ได้รับสั่งอะไรอีก

เป็นครั้งแรกที่อาตมามีโอกาสถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด รู้สึกปลื้มและตื้นตันใจเป็นอย่างมาก ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ

Advertisement

นายเฉลิม แก้วพิมพ์ อายุ 76 ปี ศิลปินพื้นบ้าน โนรา จ.ปัตตานี บุคคลในภาพที่ 2 ขณะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธียกช่อฟ้า ที่วัดช้างให้ ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ วันที่ 29 สิงหาคม 2520 เล่าว่า อดีตเป็นเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ปัจจุบันย้ายเข้ามาอยู่ในเขตพื้นที่ ต.รูสะมิแล อ.เมือง ปัตตานี ชอบด้านศิลปะการรำมโนราห์ ถูกเชิญตัวจากคณะกรรมการวัดช้างให้ เข้าร่วมรำมโนราห์ถวาย และเฝ้าฯรับเสด็จ ในวันงานยกฉัตรเจดีย์หลวงปู่ทวด และงานทอดกฐิน วัดช้างให้ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2520 มีมโนราห์เข้าร่วมรำถวาย 3 คน คือ มโนราห์ เฉลิม แก้วพิมพ์, มโนราห์ เซี่ยง พุฒยอด และมโนราห์ ไหล้ นิ่มนวล

“ภายหลังรำมโนราห์ถวายเสร็จ ในหลวงทรงถามว่าเป็นการรำอะไร ผมตอบรำมโนราห์ พระองค์ทรงถามอีกว่าได้เปิดสอนหรือไม่ ก็ตอบว่าไม่ได้เปิดสอน พระองค์ตรัสว่าอย่าให้การแสดงนี้หายไป แล้วพระองค์ทรงเอื้อมพระหัตถ์มาลูบหัว ผมรู้สึกซาบซึ้งที่พระองค์ตรัสเช่นนั้น จากนั้นผมนำคำของพระองค์มาเป็นแรงบันดาลใจในการถ่ายทอดการแสดงมโนราห์ให้แก่นักศึกษาและลูกชาวบ้านมาโดยตลอด” นายเฉลิมกล่าว

นายส่อม วงค์สีดา อายุ 78 ปี อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน จ.สกลนคร บุคคลในภาพที่ 3 พ.ศ.2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปบ้านนานกเค้า จ.สกลนคร เพื่อเตรียมสร้างอ่างเก็บน้ำตาดไฮใหญ่ เล่าว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปยังบ้านนานกเค้า เพื่อเตรียมสร้างอ่างเก็บน้ำตาดไฮใหญ่ เมื่อปี 2522 พระองค์ตรัสถามเรื่องที่ดินมีกี่ไร่ ถามเรื่องครอบครัวมีพี่น้องกี่คน ผมตอบว่าครอบครัวทำคนละ 10 ไร่ มีพี่น้อง 4 คน และตรัสว่าให้ใช้วิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป รู้สึกปลาบปลื้มที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ผมจึงบริจาคที่ดินประมาณ 18 ไร่ ให้กับศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันนี้”

Advertisement

นายปราโมทย์ อินสว่าง อายุ 68 ปี อดีตผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแม่งัด จ.เชียงใหม่ บุคคลในภาพที่ 4 ขณะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรความก้าวหน้าของโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่งัด และทรงเยี่ยมชมความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนแม่งัด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2528 กล่าวว่า ขณะนั้นมีข่าวมาว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จฯมาทรงเยี่ยมเยียนโครงการเขื่อนแม่งัด ระหว่างที่พระองค์ประทับที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ ช่วงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2528 ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เฝ้าฯรับเสด็จ

“ผมมีความรู้สึกกังวล เครียด ประหม่า เพราะไม่เคยถวายรายงานพระองค์ท่าน แต่ระหว่างที่พระองค์เสด็จฯไปยังศาลาเพื่อที่จะไปชมงานก่อสร้าง รู้สึกถึงพลังความเมตตาของพระองค์ ทำให้คลายความกังวล พระองค์ทรงวางตัวแบบธรรมดา ไม่ถือพระองค์ ผมรายงานเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานเขื่อนแม่งัด รู้สึกปลาบปลื้มปีติหาที่สุดไม่ได้ ที่ได้สนองงานพระองค์ถึง 3 ครั้ง ยิ่งไปกว่านั้นรู้สึกดีใจมากที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นบุคคลในภาพ” นายปราโมทย์กล่าว

นางแมะรอ บือฮาเรง อายุ 78 ปี อาชีพกรีดยาง จ.นราธิวาส บุคคลในภาพที่ 5 ขณะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านสุโบะปาเระ ต.จอเบาะ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส วันที่ 2 ตุลาคม 2530 กล่าวว่า วันนั้นกำลังไปเฝ้าญาติที่จะคลอดลูก มีคนตะโกนว่าในหลวงเสด็จฯไปทอดพระเนตรที่สร้างอ่างเก็บน้ำแถวเชิงเขาที่หมู่บ้านเรา ที่ตั้งใจจะไปเฝ้าคนคลอดลูก ลืมไปเลย วิ่งตามชาวบ้านไปรับเสด็จ แทน ขณะที่รอเฝ้าฯรับเสด็จ บริเวณทางลงเขาฝนตกหนัก แต่ดิฉันและชาวบ้านก็ยังเฝ้ารอพระองค์ เมื่อพระองค์เสด็จฯ ลงมาจากเขา พระองค์ทรงยิ้มให้ แต่ไม่รับสั่งอะไร รู้สึกดีใจมากที่ได้เข้าเฝ้าฯพระองค์อย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรก แม้ฝนจะตกแต่พระองค์ไม่ทิ้งประชาชนที่มาเฝ้าฯรับเสด็จ

รศ.ดร.สัณห์ชัย กลิ่นพิกุล อดีตอาจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ.วิทยาเขตหาดใหญ่ บุคคลในภาพที่ 6 ขณะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเครื่องมือในโรงงานสกัดและแปรรูปน้ำมันปาล์ม ในระหว่างการเสด็จฯไปทรงเยี่ยมโครงการศูนย์การศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส วันที่ 7 ตุลาคม 2533 กล่าวว่า มีโอกาสใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2518 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปนิคมควนกาหลง จ.สตูล เพื่อทอดพระเนตรโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กและสวนปาล์มที่นิคมปลูกไว้ ตนเป็นหนึ่งในคณาจารย์ที่เข้าไปประกอบติดตั้งเครื่องหีบน้ำมันปาล์มแบบไฮดรอลิกที่สั่งซื้อมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์

“ขณะนั้นพระองค์ทรงถามว่า สามารถสร้างเครื่องหีบน้ำมันปาล์มแบบไฮดรอลิกได้หรือไม่ ผมตอบว่าน่าจะสร้างได้พะยะค่ะ พระองค์ทรงให้การบ้านเป็นชุดแรก สร้างเครื่องหีบน้ำมันปาล์มแบบไฮดรอลิก เพื่อประหยัดต้นทุนในการนำเข้าจากต่างประเทศ พระองค์เสด็จฯ มาดูงานในปี 2519 งานก็สำเร็จเรียบร้อยดี การบ้านชุดที่ 2 พระองค์รับสั่งให้ทำโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก เป็นการบ้านชุดที่ยากที่สุด เพราะต้องนำไปทดลองให้เกษตรกรที่ทำสวนปาล์ม ทดลองเดินงานโรงงานขนาดเล็กด้วย เพื่อสกัดน้ำมันปาล์มในเชิงธุรกิจ ใช้เวลากว่า 10 ปีจึงจะสำเร็จ ปัจจุบันได้สร้างโรงงานอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มที่นิคมอุตสาหกรรมอ่าวลึก จ.กระบี่ มีกำลังผลิต 2,000 ทะลายต่อชั่วโมง” รศ.ดร.สัณห์ชัยกล่าว

รศ.ดร.สัณห์ชัยกล่าวต่อไปว่า การบ้านชุดที่ 3 ทรงรับสั่งให้ ม.อ.ร่วมกับกรมชลประทานและกรมวิชาการเกษตรสร้างอ่างเก็บน้ำให้ อ.ปลายพระยา และ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ เพื่อให้ประชาชนปลูกข้าวอย่างครบวงจร เรียกว่าทฤษฎีเศรษฐกิจเพื่อการพึ่งพาตนเอง เพื่อป้องกันการขาดแคลนข้าวเมื่อเกิดอุทกภัย และการบ้านชุดสุดท้าย ทรงรับสั่งให้สร้างโรงงานขนาดเล็กให้ชาวบ้านที่ไม่รู้จักปาล์มน้ำมัน เข้ามาศึกษาว่าปาล์มน้ำมันมีประโยชน์อย่างไร ทรงรับสั่งให้ทำเป็นเครื่องหีบแรงคน

พระองค์รับสั่งว่า ถ้าใครจะว่าเราถอยหลังเข้าคลอง ก็ยอมรับว่าเราถอยหลังเข้าคลอง แต่เราถอยหลังเข้าคลองไปเพื่อจะดูว่าก้นคลองมีอะไรดีๆ บ้าง ถ้ามีก็เก็บมา ถ้าไม่มีก็แล้วไป มีความภูมิใจ ประทับใจในพระมหากรุณาธิคุณที่ 41 ปีในชีวิตการทำงานได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมาโดยตลอด

น.ส.ทิพย์วรรณ ศุภกิจถาวร หรือครูส้ม อายุ 29 ปี อาจารย์สอนดนตรีโรงเรียนรัชตวิทยาคม อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ บุคคลในภาพที่ 7 ขณะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรนิทรรศการต่างๆ ในโอกาสเสด็จฯไปทรงเยี่ยมโครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งแรก อ่างเก็บน้ำบ้านเขาเต่า ต.หนองแก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 6 ตุลาคม 2544 เล่าว่า เป็นตัวแทนของนักเรียนรายการศึกษาทัศน์ ซึ่งเป็นรายการของในหลวง ถ่ายทำที่โรงเรียนวังไกลกังวล อ.หัวหิน ริเริ่มรายการเมื่อปี 2543 เป็นการเรียนกับครูในทีวี ในหลวงทรงเห็นบทบาทสำคัญของการศึกษาในด้านนี้ และทรงรับสั่งเสมอว่า การศึกษาเรื่องราวใดๆ ก็ตาม จะต้องลงมือทำ

“ต่อมาปี 2544 พระองค์รับสั่งให้นักเรียนในรายการศึกษาทัศน์ ตามเสด็จฯ พระองค์ เพราะทรงอยากให้รางวัลกับนักเรียนที่เสียสละเวลาในวันหยุด เพื่อมาถ่ายรายการศึกษาทัศน์ พระองค์ตรัสว่า ไม่ได้ให้รางวัลเป็นเงิน แต่ให้รางวัลโดยพระองค์ท่านทรงเป็นครูในการอรรถาธิบาย ตอนนั้นอายุเพียง 14 ปี ความรู้สึกตอนแรกที่ได้ตามเสด็จฯ รู้สึกเครียด เพราะกลัวกิริยาจะไม่เหมาะสม แต่ความรู้สึกนั้นเปลี่ยนไป เมื่อพระองค์เสด็จฯ มา และรับสั่งว่านี่ไงดารา เราเริ่มรู้สึกถึงพระอารมณ์ขันของพระองค์ พระองค์ทรงใช้เทคนิคการสอนด้วยการวาดเป็นรูปภาพ หรือที่ปัจจุบันเรียกอินโฟกราฟิก เป็นวิธีสอนที่เก่ง และเข้าใจง่าย

“ทุกครั้งที่มองรูปถ่ายขณะถวายงานพระองค์ มีความภาคภูมิใจมาก แต่จริงๆ แล้ว ความหมายลึกๆ ในภาพคือ คำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสอนว่าจะเป็นใครก็ได้ จะทำอาชีพอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่เก่งที่สุด แต่ขอให้เป็นบุคคลที่ทำคุณค่าให้กับสังคม ซึ่งโชคดี และรู้สึกตื้นตันที่วันหนึ่งได้มีโอกาสมาเป็นแม่พิมพ์ของชาติ และมีโอกาสถ่ายทอดแนวคิดของพระองค์ให้นักเรียนฟัง” น.ส.ทิพย์วรรณกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image