กทม. เตรียมพร้อมรับน้ำเหนือหลาก-น้ำทะเลหนุน พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

เมื่อวันที่ 11 กันยายน นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุน ในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมถาวรริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ คลองชักพระ และคลองพระโขนง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากน้ำหลากและน้ำทะเลหนุนสูง โดยมีความยาวริมตลิ่งประมาณ 87.93 กม. ซึ่งดำเนินการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมแล้วเสร็จความยาวประมาณ 78.93 กม. ความสูงแนวคันป้องกันน้ำท่วม อยู่ที่ระดับ +2.80 ม.รทก. ถึง +3.50 ม.รทก. และเป็นแนวป้องกันตนเองความยาวประมาณ 9.00 กม. โดยใช้แนวอาคารหรือกำแพงรั้ว รวมถึงใช้การเรียงกระสอบทรายเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมชั่วคราว สามารถป้องกันน้ำท่วมที่ระดับ + 2.20 ม.รทก. ถึง + 2.50 ม.รทก. ซึ่งแนวป้องกันน้ำท่วมดังกล่าวสามารถรองรับปริมาณน้ำเหนือได้ประมาณ 2,500 – 3,000 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้สำนักการระบายน้ำได้ติดตามและเฝ้าระวังปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.29A อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะไหลลงมาผ่านพื้นที่กรุงเทพมหานครออกสู่อ่าวไทย พบว่าในวันนี้ (11 ก.ย.62) ปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 857 ลบ.ม./วินาที นอกจากนี้ได้ติดตามระดับน้ำที่ประตูระบายน้ำปากคลองตลาดสูงสุด ในวันที่ 10 ก.ย.62 อยู่ที่ระดับ +1.35 ม.รทก. ซึ่งระดับน้ำยังอยู่ต่ำกว่าแนวคันป้องกันน้ำท่วมประมาณ 1.65 ม. และปัจจุบันสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครยังไม่พบว่ามีน้ำล้นตลิ่งแต่อย่างใด

นางศิลปสวย กล่าวว่า อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับกรมชลประทานเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ สถานการณ์ฝน หากพบว่าแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลบ่ามากและจะส่งผลให้เกิดการเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ได้ ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ จะแจ้งผู้บริหารกรุงเทพมหานคร พร้อมแจ้งเตือนประชาชนแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับทราบต่อไป

Advertisement

“ส่วนการเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร ได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งสถานการณ์น้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุน โดยตรวจสอบประสิทธิภาพระบบระบายน้ำ เพื่อให้พร้อมรองรับสถานการณ์ดังกล่าว เช่น อุโมงค์ระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ บ่อสูบน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำ ตรวจสอบความแข็งแรงของแนวป้องกันน้ำท่วม การเฝ้าระวังพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วม การล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ การขุดลอกคูคลอง จัดเก็บขยะ วัชพืชที่ขวางทางน้ำ การพร่องลดระดับน้ำแก้มลิง คูคลอง เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานภาคสนาม พร้อมทั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่สำรองไว้ในกรณีฉุกเฉิน รวมถึงการติดตามการรายงานสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด” นางศิลปสวย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image