ระวัง! ดูฟุตบอลยูโร ‘ขาดสติ –ติดพนัน’ เสี่ยงป่วยจิตเวช- ฆ่าตัวตายอีก 4 เท่า

เมื่อวันที่  9 มิถุนายน  นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว “เทศกาลฟุตบอลยูโร 2016 : เชียร์บอลอย่างมีสติ” ว่า ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน -10 กรกฎาคม 2559 เป็นช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2016  ซึ่งเป็นห่วงในเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชน  เพราะเวลาการแข่งขันมักเป็นช่วงกลางคืน ซึ่งเป็นเวลานอนของคนไทย และจะมีการถ่ายทอดสดติดต่อกันหลายวัน ประชาชนที่รอชมการขังขันฟุตบอลควรดูบอลอย่างมีสติด้วยวิธีง่ายๆ 4 อย่าง คือ 1.หลีกเลี่ยงอาหารทำลายสุขภาพ อาทิ อาหารฟาสต์ฟู้ด 2.ดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยที่สุด หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3.จัดเวลานอนให้เพียงพอ โดยเฉพาะผู้ที่ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ และ 4.ดูสนุกได้ต้องไม่พนัน

นพ.เจษฏา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปีนี้คาดว่าจะมีประชาชนเสี่ยงต่อการพนันบอลมากขึ้น ยิ่งเป็นช่วงเทศกาลฟุตบอลยูโร ซึ่งการติดพนันบอล ถือเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง คล้ายๆ กับการติดยาเสพติด ทั้งนี้ จากสายด่วนสุขภาพจิตเลิกพนัน 1323 ซึ่งให้คำปรึกษาฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งมีนักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญในการปรับพฤติกรรมให้คำแนะนำ พบว่าในปี 2558 มีสายโทรเข้ามา 310 ครั้ง พบชายมากกว่าหญิงถึง 3 เท่า ร้อยละ 34 ติดพนันบอล เฉลี่ยอายุระหว่าง 22-59 ปี โดย ประชาชนควรสังเกตพฤติกรรม  หากมี 1 ใน 3 ข้อต่อไปนี้ถือว่าเสี่ยงติดพนันบอล คือ 1.นอนไม่หลับ หงุดหงิด หรือวิตกกังวล เมื่อพยายามหยุดเล่นพนัน 2.ปิดบังครอบครัวหรือเพื่อน ไม่ให้รู้ว่าเสียพนัน  และ 3.ต้องการความช่วยเหลือด้านการเงิน จึงขอให้ดูบอลอย่างมีสติ ไม่ควรติดตามต่อเนื่องนานเกิน 2 วัน ติดตามจากสื่ออื่นๆ แทน

พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์  ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า การติดพนัน เกิดจากพยาธิสภาพของสมองมีการเปลี่ยนแปลง จนจุดหนึ่งเกิดสภาพคล้ายๆ เหมือนคนติดยาเสพติด การรักษาจึงเหมือนกับโรคติดสารเสพติดทั่วไป แต่จะมีการประเมินว่ามีอาการแค่ไหนต้องรักษาด้วยยา หรือเพียงการปรับพฤติกรรมที่เรียกว่า จิตสังคมบำบัด ก็พอ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจากสายด่วนสุขภาพจิตเลิกพนัน 1323 ซึ่งเปิดให้คำปรึกษาฟรีตลอด 24 ชั่วโมง พบว่า มีกลุ่มที่โทรเข้ามาปรึกษาจำนวนมาก และส่วนหนึ่งเข้ารับการรักษา โดยเฉลี่ยเข้ารับการรักษาปีละ 500 กว่าราย โดยร้อยละ 80 จะรักษาในรูปแบบจิตสังคมบำบัด อีกร้อยละ 20 รักษาด้วยยา เนื่องจากมีภาวะเศร้า และ อารมณ์หงุดหงิดจากความต้องการเลิกร่วมด้วย

“จากเคสที่เข้ามารักษานั้น ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น หลายครั้งพ่อแม่พาเข้ามารักษาเอง และหลายครั้งก็มีอาการร่วม 3 อย่าง คือ ติดเล่นเกม ติดการพนัน และติดยาเสพติด  ซึ่งในเรื่องของการพนันนั้น จะพบว่าอันดับแรกคือ ติดพนันออนไลน์ รองลงมาพนันบอล และสุดท้ายติดการเล่นไพ่ และหวย” พญ.มธุรดากล่าว

Advertisement

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า  แม้จะรักษาโรคติดพนันได้ แต่จะดีที่สุดหากไม่เริ่มลองเล่น เพราะไม่ต่างจากการลองยาเสพติด แม้เพียงนิดหนึ่งก็สามารถติดยาเสพติด และส่งผลกระทบต่อชีวิตได้ ทั้งชีวิตตัวเอง ครอบครัว เศรษฐกิจ  โดยก่อปัญหาต่างๆ  ทั้งทักษะในการใช้ชีวิตลดลง  การพนันมีส่วนทำให้เด็กมีโอกาสติดเหล้า 5 เท่า ติดยาเสพติด 6 เท่า มีความรุนแรงและการใช้อาวุธอีก 6 เท่า สูบบุหรี่ 3-10 เท่า เป็นหนี้และอาจก่อปัญหาอาชญากรรม และมีภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงขึ้นถึง 4 เท่า

 

S__2646135

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image