กรมอุทยานฯเร่งข้อมูล ‘ดงพญาเย็น-เขาใหญ่’ แจง21ปท.ยูเนสโก หวังหลุดภาวะอันตราย

จากกรณีที่มีการเปิดเผยร่างการประชุมคณะกรรมการระดับโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 40 ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 10-20 กรกฎาคม 2559 ที่นครอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี โดยมีวาระที่ 7B เกี่ยวข้องกับรายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และมีแนวโน้มจะให้ขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นแหล่งมรดกโลกในภาวะอันตรายนั้น

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน นายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผู้อำนวยการสำนักมรดกโลกทางธรรมชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ว่า ร่างมติดังกล่าว องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ ไอยูซีเอ็น (IUCN: International Union for Conservation of Nature) จัดทำขึ้น โดยมีผู้แทนอยู่ในแต่ละภูมิภาค ซึ่งอาจมีการประเมินสถานการณ์ การอ่านรายงานต่างๆ แต่ไม่แน่ใจว่าได้ข้อมูลมาอย่างถูกต้องตามข้อเท็จจริงในปัจจุบันหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ร่างมติดังกล่าวถือเป็นใบเหลืองที่เตือนให้ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะประเด็นการลักลอบตัดไม้พะยูงที่ยังเป็นปัญหาคุกคามในพื้นที่

นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า ในการแก้ปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงนั้น ไทยได้ชี้แจงมาตรการการป้องกันและปราบปราม รวมทั้งรายงานผลการจับกุมผู้กระทำผิด ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารข้อมูลเพื่อนำไปชี้แจงต่อประเทศสมาชิกองค์การยูเนสโกทั้ง 21 ประเทศ โดยสถิติตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน มีอัตราการจับกุมที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด มีการลาดตระเวนอย่างเข้มข้น อีกทั้งยังมีมาตรการการแก้ปัญหาค้าไม้พะยูงร่วมกันระหว่าง 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา และจีน เพื่อยับยั้งการค้าไม้พะยูงตั้งแต่ประเทศต้นทางจนถึงประเทศปลายทาง อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นไทยจะสำรวจจำนวนไม้พะยูงในพื้นที่มรดกโลกที่มีกว่าหลายพันต้น เพื่อชี้แจงคณะกรรมการมรดกโลกถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน และหารือร่วมกับประเทศที่เป็นกรรมการมรดกโลกเพื่อสนับสนุนไทย ซึ่งมีความคาดหวังว่าการชี้แจงตามข้อเท็จจริงจะไม่ทำให้ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ตกเป็นมรดกโลกในภาวะอันตราย

“อยากขอความยุติธรรม เนื่องจากไม้พะยูงไม่ได้ถูกขายในประเทศ กระบวนการลักลอบตัดไม้ส่งออกไปขายยังต่างประเทศทั้งหมด อีกทั้งเชื่อว่าการที่กระบวนการลักลอบตัดไม้พะยูงในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเนื่องจากพื้นที่อื่นๆ ในประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่มีไม้พะยูงเหลือน้อยเต็มทีแล้วจึงส่งผลให้ราคาสูงขึ้น เชื่อว่าการนำเรื่องไม้พะยูงเป็นการพิจารณาให้เป็นมรดกโลกในภาวะวิกฤตไม่มีเหตุผลเพียงพอ เนื่องจากเป็นไม้ชนิดเดียวจาก พืชพันธุ์จำนวนมากในพื้นที่ดงพญาเย็น-เขาใหญ่” นายประเสริฐ กล่าวและว่า เมื่อทำรายละเอียดเอกสารทั้งหมดเรียบร้อยแล้วจะเสนอให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ พิจารณาอีกครั้ง

Advertisement

นายประเสริฐ กล่าวว่า สำหรับปัญหาอื่นๆ เช่น การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อก่อสร้างบ้านพัก รีสอร์ต กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้แก้ปัญหาอย่างเข้มข้น มีการจับกุมดำเนินคดี รื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่ส่งผลกระทบภายในพื้นที่อนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของที่ทำกินราษฎรจะมีการพิสูจน์สิทธิ์ด้วยความเป็นธรรม มีแผนบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกอย่างชัดเจน ส่วนการสร้างเขื่อนห้วยสะโตง และการขยายถนนสาย 348 ในเขตอุทยานแห่งชาติตาพระยา จ.สระแก้ว ซึ่งไทยได้ชี้แจงว่าโครงการไม่ผ่านการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จึงไม่มีการก่อสร้างโครงการดังกล่าวให้เกิดผลกระทบในพื้นที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image