ไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาแรงงานทางทะเล-ร่วมแก้กฎเพิ่มความรับผิดเจ้าของเรือ

ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน และน.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้แทนนายจ้างและลูกจ้าง เข้าร่วมการลงคะแนนเสียงรับรองการแก้ไขประมวลอนุสัญญาแรงงานทางทะเล พ.ศ.2549 (Maritime Labour Convention) และการแก้ไขภาคผนวกอนุสัญญาฉบับที่ 185 ว่าด้วยใบแสดงตนคนประจำเรือ พ.ศ.2546

ทั้งนี้ การแก้ไขประมวลอนุสัญญาแรงงานทะเล ประกอบด้วย 1. ความรับผิดชอบของเจ้าของธงเรือ (Flag states) ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดทำใบรับรอง โดยให้มีการเพิ่มประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขยายวันหมดอายุใบรับรองด้านแรงงานทางทะเลฉบับเดิมเป็นการชั่วคราวในระยะเวลาไม่เกินห้าเดือนสำหรับเรือที่อยู่ระหว่างการตรวจแรงงานซึ่งยังไม่ได้รับใบรับรองด้านแรงงานฉบับใหม่ และใบรับรองด้านแรงงานฉบับเดิมหมดอายุแล้ว

2. การคุ้มครองสุขภาพ การรักษาพยาบาล สวัสดิการ และการคุ้มครองด้านประกันสังคมการป้องกันอุบัติเหตุและการคุ้มครองความปลอดภัยและสุขภาพอนามัย โดยให้เพิ่มประเด็นที่ให้หน่วยงานทรงอำนาจของประเทศเจ้าของธงเรือดำเนินการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มั่นใจว่าเจ้าของเรือจะมีการกำหนดแผนและมาตรการเพื่อขจัดการคุกคามใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นบนเรือนั้นๆ

สำหรับการแก้ไขภาคผนวกที่ 1 ของอนุสัญญาฉบับที่ 185 ว่าด้วยใบแสดงตนคนประจำเรือ พ.ศ.2546 นั้น เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บข้อมูลชีวภาพของคนประจำเรือด้วยระบบการจัดเก็บลายนิ้วมือให้สอดคล้องกับองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้กับเอกสารการเดินทางของลูกเรือที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก

Advertisement

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ยื่นให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ.2549 (Maritime Labour Convention) กับ นายกาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ) ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ในฐานะผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ระหว่างการเดินทางไปร่วมประชุมใหญ่ประจำปีไอแอลโอ ระหว่างวันที่ 4 – 8 มิถุนายน ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติให้ไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่คุ้มครองแรงงานในเรือเดินสมุทรให้มีสวัสดิการที่ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image