นักวิชาการศูนย์ ‘สตรีศึกษา’ มช. คาใจ ‘ซุปเปอร์โพล’ หวั่นอคติทางเพศ ชวนไขวิธีคิด ปม ‘ลันลาเบล’

ขวา-ผศ.ดร.อริยา เศวตามร์ (ภาพจาก คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ http://soc.cmu.ac.th)

สืบเนื่องกรณีผลซุปเปอร์โพลที่ระบุว่า เกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 63.0 ของผู้หญิงยอมเสียตัวเพื่อแลกเงินก้อนใหญ่

เมื่อวันที่ 22 กันยายน ผศ.ดร. อริยา เศวตามร์ ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวกับ ‘มติชน’ ว่า โพลในลักษณะเช่นนี้ ให้ความรู้สึกว่ามี ‘อคติทางเพศ’ โดยเลือกหยิบว่าจะไปแจกใคร การเข้าถึงทั่วทุกกลุ่มเป้าหมายคงเป็นไปไม่ได้ ผลของโพลขึ้นอยู่กับว่าไปพิจารณาคนกลุ่มไหน ระดับการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจ อาชีพอะไร ถ้าไปดูบางวงการก็อาจเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเปลี่ยนพื้นที่ก็อาจสรุปไม่ได้ (อ่าน ‘ซูเปอร์โพล’ ชี้สาว 15-19 ปี เกือบครึ่ง ยอมเสียตัวเพื่อแลกเงินก้อนใหญ่)

“ถ้าให้มองส่วนตัว คิดว่าเป็นเรื่องอคติทางเพศด้วย เพราะบางครั้งเป็นการพูดแบบเหมารวม คนที่เหมารวมไม่ได้ทราบเงื่อนไขในรายละเอียดของคนแต่ละคน ว่าที่ตัดสินใจอย่างนั้น หรือเลือกอาชีพนั้นเพราะอะไร อคติทางเพศเหล่านี้ บางครั้งไปโยงกับเรื่องความคิดเรื่องเหยียดเพศ หรือมองผู้หญิงด้านลบ ไม่ต่างกับประเด็นเรื่อง sex worker บางครั้งไปเหมารวมว่าคนเหล่านั้นเป็นผู้หญิงไม่ดี แต่ในความเป็นจริงไม่เคยไปดูว่า คนที่ขายบริการทางเพศ มีแนวคิดอย่างไรจึงเลือกอาชีพนี้  ในสังคมมีความคิดเรื่องภาพเหมารวมที่มองว่าผู้หญิงดีต้องมีคุณสมบัติแบบนั้นแบบนี้ และผู้หญิงไม่ดีคืออะไร ถ้าใครไม่เป็นไปตามกรอบรรทัดฐานทางสังคม ก็จะถูกมองว่าเป็นผู้หญิงที่ไม่อยู่ในกรอบ และถูกประณาม” ผศ.ดร. อริยากล่าว

สำหรับผลโพลในประเด็น ‘พริตตี้ลันลาเบล กับปัญหาสังคม’ ซึ่ง 93% ระบุว่าพริตตี้ไม่ใช่อาชีพน่ารังเกียจ และ 70.3 % ระบุว่าเป็นอาชีพที่หาเงินได้มากนั้น ผศ.ดร. อริยา กล่าวว่า จริงๆแล้วเราอยู่ในสังคมทุนนิยม ซึ่งเงินเป็นเรื่องสำคัญ การที่จะได้เงินมาด้วยวิธีไหน ก็เป็นสิทธิของทุกคน แต่เมื่อบุคคลใดเลือกอาชีพนั้นๆแล้ว ไม่ได้หมายความว่าคนที่ใช้บริการ สามารถทำอะไรกับเขาได้ทุกอย่าง

Advertisement

“กรณีลันลาเบล ต้องวิเคราะห์ว่าสาเหตุเกิดขึ้นเพราะอะไร มีวิธีคิดอะไรที่ทำให้ผู้ชายคนหนึ่งสามารถทำกับผู้หญิงได้ขนาดนี้ และน่าจะตั้งคำถามต่อไปว่าผู้ชายคนหนึ่งถูกเลี้ยงดูมาในครอบครัว ในสังคมแบบไหน ถึงเป็นได้ขนาดนี้  ในสังคมมีประเด็นถกเถียงกันว่าเวลาเกิดเหตุในลักษณะทางเพศทั้งหลาย  เช่น การข่มขืน ถือเป็นปัญหาในเชิงปัจเจก หรือปัญหาของสังคม และปัญหาโครงสร้าง เพราะถ้ามองว่าเป็นปัญหาปัจเจก ก็มักมองกันว่าให้ลงโทษด้วยการประหารชีวิตเสียเลย ก็จะหมดไป แต่จริงๆแล้วสังคมที่หล่อหลอมคนตั้งแต่เด็กจนโตที่ทำให้เขาสามารถทำอะไรแบบนี้ได้ เป็นเรื่องความเป็นมนุษย์ คนที่เกิดมาเป็นผู้ชายแล้วคิดว่ามีอำนาจ มีความแข็งแรง มีเงิน มีความเหนือกว่า แล้วมาทำร้ายผู้หญิงแสดงว่าวิธีคิดของเขามีปัญหา” ผศ.ดร.อริยากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image