อาจารย์นิติฯ ม.วไลยอลงกรณ์ชี้ข้อกม. กรณีกระทำชำเราหญิงที่ตายแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธนาวุฒิ วงศ์อนันต์ อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้โพสต์ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการมีอะไรกับศพ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Tanawut Wonganan” โดยระบุว่า

ที่ผ่านมาเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินไว้ พอที่จะเทียบเคียงได้ คือคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7144/2545 เป็นกรณีที่จำเลยข่มขืนกระทำชำเราหญิงที่ตายไปเเล้ว โดยคิดว่าหญิงนั้นสลบ ดังนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 เพราะหญิงนั้นตายไปเเล้ว จึงไม่มีสภาพบุคคล ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 วรรค1 ซึ่งบัญญัตว่า “สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็น ทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย”

ดังนั้นที่ไม่ต้องรับผิดเพราะ ตาม ประมวลกฎหมาย มาตรา 276 บัญญัติว่า “ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น..” ดังนั้น การจะเป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามมาตรา 276 ได้นั้น จะต้องปรากฎว่าหญิงนั้นยังมีสภาพบุคคล กล่าวคือ หญิงนั้นจะต้องมีชีวิตอยู่จึงจะครบองค์ประกอบภายนอก แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า หญิงนั้นตายไปเเล้ว กระทำของชายจึง “ขาดองค์ประกอบภายนอก” หญิงนั้นจึงไม่มีสภาพบุคคล อันจะถือว่าเป็น “ผู้อื่น” ตามมาตรา 276 ได้อีก จึงไม่มีความผิด

ขณะที่มาตรา 366/1 “ผู้ใดกระทำเพื่อสนองความใคร่ของตน โดยใช้อวัยวะเพศของตนล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของศพ ต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” (แก้ไขล่าสุดปี2562)

Advertisement

ถ้าตามข้อเท็จจริง การกระทำของจำเลยดังกล่าว ก็ไม่เป็นความผิดฐานกระทำชำเราศพ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 366/1 เพราะบุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาต้องกระทำโดยเจตนา ตามมาตรา 59 ดังนั้น การจะเป็นความผิดฐานกระทำชำเราศพได้ ผู้กระทำต้องรู้ว่าหญิงที่ตนกระทำชำเราไปนั้นเป็น “ศพ” ด้วย เมื่อผู้กระทำหรือจำเลยไม่รู้ว่าหญิงนั้นเป็นศพ เพราะผู้กระทำเข้าใจว่าหญิงนั้นเพียงสลบไป จึงถือว่าการกระทำของผู้กระทำนั้นจึงขาดเจตนา คือไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด อันเป็นเรื่องของการ “ขาดองค์ประกอบภายใน” คือ ไม่รู้ว่าการกระทำของตนนั้น เป็นการกระทำชำเราศพ ถือว่าผู้กระทำไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิด จะถือว่าชายประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นไม่ได้ ตาม ประมวลกฎหมาย มาตรา 59 วรรคสาม

ดังนั้นขอสรุปง่ายๆคือ การข่มขืนกระทำชำเราหญิงที่ตายไปเเล้วโดยเข้าใจว่าหญิงนั้นสลบ ไม่เป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 เพราะการกระทำนั้น “ขาดองค์ประกอบภายนอก” และการที่มีอะไรกับศพโดยที่เข้าใจว่าเป็นคน การกระทำดังกล่าวก็ไม่เป็นความผิดฐานกระทำชำเราศพ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 366/1 เพราะการกระทำนั้น “ขาดองค์ประกอบภายใน” จึงไม่มีความผิดเช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่เกิดขี้นเป็นกรณีๆไป

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธนาวุฒิ ก็ได้เคยให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับเรื่อง “ฆ่าโดยงดเว้น” #กฎหมายอาญา 1 โดยยกตัวอย่างกรณีนักษึกษา ว่า
“หากไปเจอน้องคนหนึ่งในผับ น้องเมามาก เลยพามาที่ห้อง แล้วจู่ๆน้องเขาชักจนน้ำลายฟูปาก ผมตกใจ ทำอะไร ไม่ถูก เช็คตัวก็แล้ว เรียกน้องเขาก็แล้ว น้องยังไม่ฟื้น ผมเลยติดต่อให้ญาติเขามารับ โดยผมอุ้ม/ลากน้องเข้าไปไว้ที่โซฟาล็อบบี้ด้านล่าง ต่อมาน้องเขาตาย ผมจะผิดอะไรไหม”

Advertisement

คำตอบคือบุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อกระทำโดยเจตนา “การกระทำ” นั้นหมายถึง การเคลื่อนไหวร่างกายหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึกภายใต้จิตใจบังคับ การไม่เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ถือว่าจะเป็นการกระทำทุกกรณี จะถือว่าเป็นการกระทำก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้ผลนั้นเกิดแต่งดเว้นการที่จักป้องกันผลนั้นด้วย ตามมาตรา 59 วรรคท้าย
หน้าที่ป้องกันไม่ให้ผลนั้นเกิดนั้น มีหลายกรณี เช่น
1 หน้าที่โดยผลของกฎหมาย ได้แก่ บิดามารดาต้องเลี้ยงดูบุตร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา๑๕๖๔ เช่น แม่ไม่ให้บุตรกินนมจนบุตรอดตาย เป็นต้น
2หน้าที่ตามสัญญา ได้ เราทำสัญญาจ้างคนมาเป็นบอดี้การ์ดส่วนตัว เห็นภัยเกิดขึ้นแล้วกลับไม่ทำหน้าที่ช่วยเรา เป็นต้น
3 หน้าที่อันเกิดจากการกระทำครั้งก่อนๆ ของตนเอง เช่น เห็นคนตกน้ำพอว่ายไปเจอดันรู้ว่าเป็นคู่อริจึงว่ายกลับ หน้าที่นี่เกิดจากการกระทำในตอนแรกที่เข้าไปช่วยแต่ช่วยไม่ตลอด เป็นต้น
4 หน้าที่เกิดจากความสัมพันธ์พิเศษเฉพาะเรื่อง คือ ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่มีหน้าที่ตามสัญญา ไม่มีหน้าอันเกิดจากการกระทำครั้งก่อนๆ แต่อาจมีความสัมพันธ์พิเศษกัน เช่นชายหญิงที่อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยาแต่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ก็มีหน้าที่ต้องดูแลกัน เป็นต้น(ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก ตำรา กฎหมายอาญา ภาคทั่วไป ของ อ เกียรติขจร วัจนสวัสดิ์ เรื่อง การกระทำ)

กรณีเจอสาวในผับ หรือ สถานที่ใด เกิดตกลงใจชอบพอกันพากันไปต่อที่สถานที่ใดก็ตาม แล้วเกิดเห็นเหตุการณ์ขึ้นดังกล่าว ถามว่าคู่กรณีที่พาไป จะมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้ผลนั้นเกิดหรือไม่ กรณีนี้ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนมองว่า น่าจะเข้ากรณีหน้าที่อันเกิดจากการกระทำครั้งก่อนๆของตนเอง ที่ตนเองได้ไปพาเขามาถึงห้อง เมื่อพามาควรมีหน้าที่ต้องดูแล ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น เปรียบได้กับกรณีว่ายน้ำไปช่วยแล้ว ต้องช่วยตลอดหรือ ขับรถชนคนแล้วคุณต้องมีหน้าที่พาเขาส่งโรงพยาบาล หน้าที่เกิดจากการกระทำครั้งก่อนของตนคือการขับรถชน เป็นต้น

กรณีนี้อาจพอเทียบเคียงกับคดีเรื่องหนี่ง คือ จำเลยได้ขี่มอเตอร์ไซค์แล้วก็สาวคนรักซ้อนท้ายแล้วเกิดอุบัติเหตุ คนรักตกจากรถได้รับอันตรายสาหัสคนหมดสติ จำเลยแทนที่จะช่วยเหลือดันเผ่นหนีไป ทึ้งแฟนตัวเองสลบอยู่ถึงแปดวันและไม่ยอมแจ้งให้มารดาแฟนทราบ เช่นนี้ถือว่าจำเลยมีหน้าที่ช่วยเหลือแฟนดูแลให้รอดชีวิต ถือเป็นหน้าที่อันเกิดจากการกระทำครั้งก่อนของจำเลยเอง การกระทำครั้งก่อนคือ พาแฟนมาเที่ยวแล้วเกิดอุบัติเหตุ ถือว่าเกิดหน้าที่ต้องช่วย ต้องดูแล ถ้าไม่ช่วยถือเป็นการงดเว้น คำพิพากษาฎีกาที่ 16412/2555 ตัดสินไว้ว่าจากการกระทำดังกล่าวของจำเลย ถือว่าจำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การงดเว้นไม่ให้ความช่วยเหลือแฟนตัวเองนั้น อาจทำให้แฟนตัวเองถึงแก่ความตายได้ เมื่อแฟนไม่ตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบ มาตรา80 และมาตรา59 วรรคท้าย
ทั้งนี้รายละเอียดที่เกิดขึ้นก็ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณีๆ

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก เฟซบุ๊ก “Tanawut Wonganan”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image