อพม.หัวใจ ‘ผู้ให้’ ความดีทำได้ ไม่ต้องรอพร้อม

อพม.หัวใจ ‘ผู้ให้’ ความดีทำได้ ไม่ต้องรอพร้อม

ผู้ให้ – คนส่วนใหญ่มักคิดว่าการทำดีด้วยการเป็นผู้ให้นั้น ต้องเริ่มต้นจากตัวเรามีความพร้อมก่อน โดยเฉพาะเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจที่มีเงินเป็นปัจจัยหลัก จึงเฝ้ารอโอกาสที่จะทำความดี

แต่ไม่ใช่กับ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ทั้ง 84 คนนี้ ที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติเป็น อพม.ดีเด่น และ อพม.ดีเด่นพิเศษ ประจำปี 2562 จาก นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

โดยเฉพาะกับผู้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติเป็น อพม.ดีเด่นพิเศษ ที่ต้องปฏิบัติงานจนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อเนื่อง เพราะต้องเคยได้รับ อพม.ดีเด่นมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ต่างรู้สึกภูมิใจที่ได้รับรางวัลนี้ และเตรียมได้รับการเสนอชื่อรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์

นางเครือวัลย์ มีแต้ม อายุ 64 ปี อพม.จากอำเภอเมือง จ.นครศรีธรรมราช เล่าทั้งรอยยิ้มว่า เพราะดิฉันเคยเป็นคนด้อยโอกาสมาก่อน แล้วมีความคิดมาตลอดว่าหากวันหนึ่งเราสามารถช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว ก็อยากจะช่วยเหลือคนอื่นๆ บ้าง

Advertisement

ปัจจุบันเครือวัลย์ทำงานช่วยเหลือสังคมเต็มตัว นอกจากบทบาท อพม.แล้ว เธอยังเป็นประธานอาสาสมัครแรงงานประจำตำบล กรรมการดำเนินการฝึกอบรมหลักสูตรวิทยากรลูกเสือชาวบ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เหล่ากาชาด เธอยอมรับสิ่งที่ทำอยู่ ไม่ใช่ว่าเธอร่ำรวย แต่เพราะได้ทำหน้าที่ในครอบครัวสมบูรณ์แล้ว ลูกชายคนโตเป็นทหารอากาศ และลูกสาวคนเล็กเป็นพยาบาล จึงอยากใช้เวลาที่เหลืออยู่ช่วยเหลือสังคม

“ดิฉันเป็นอาสาสมัครมา 20 ปี ตั้งแต่ชื่อกรมประชาสงเคราะห์เดิมที่เรียกว่า อาสาสมัครประชาสงเคราะห์ ก็ทำมาตลอดจนเปลี่ยนชื่อว่า อพม. ทำทุกอย่างเพื่อให้คนในชุมชนท้องถิ่นเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ อย่างเด็กกำพร้าที่พ่อแม่เสียชีวิตจากเอดส์ต้องอยู่กับปู่ย่า ก็ลงไปช่วยเขา ขับมอเตอร์ไซค์พาเขาไปรับสิทธิและส่งกลับด้วยตัวเอง รวมถึงช่วยคนที่ประสบภาวะยากลำบากต่างๆ โดยมีทีมงานคอยช่วยกัน” นางเครือวัลย์เล่าอย่างมีความสุข

แม้ในอนาคต อพม.จะเริ่มมีค่าตอบแทน เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหารจำนวนหนึ่ง แต่ที่ผ่านมาต้องถือว่าเครือวัลย์ทำด้วยใจจริงๆ ลงทุน ลงแรงด้วยตัวเองตลอด

Advertisement

“งานอย่างนี้ไม่เคยได้อะไรตอบแทน มีที่ได้กลับมาอย่างเดียวคือความสุขและความภูมิใจ ที่ได้เห็นเขามีรอยยิ้ม เขาได้พ้นทุกข์หรือทุกข์คลี่คลาย จึงอยากทำ อพม.ต่อไปจนสภาพร่างกายไม่ไหวไปเอง” เครือวัลย์กล่าว

นางเครือวัลย์ มีแต้ม

ขณะที่ นายบรรหาร วิสิทธิ์ อาย 47 ปี ประธาน อพม.จากจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งยืนยันเหมือนกันว่า “ไม่ได้ร่ำรวย” เพราะมีอาชีพเป็นชาวนา แต่ที่อยากช่วยเหลือสังคมเพราะอยากทำตัวเองให้เป็นแบบอย่างแก่เด็กและเยาวชน ว่าเราไม่จำเป็นต้องร่ำรวย แต่หากมีจิตใจที่พร้อมก็สามารถช่วยพัฒนาสังคมได้

บรรหารเล่าพลางกอดรางวัลแนบอกว่า ก่อนจะมาเป็น อพม.ตนทำ อสม.รวมถึงผู้นำพัฒนาชุมชนมาก่อน และปัจจุบันยังทำอยู่ ซึ่งแต่ละบทบาทก็มีภารกิจแตกต่างกัน อย่าง อพม.คือการช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐ ในการทำงานก็จะคอยประสานงานภาครัฐ ภาคเอกชนให้เข้าไปช่วยเหลือ โดยเป็น อพม.มาแล้วเกือบ 10 ปี และจะทำต่อเนื่องต่อไป

“สิ่งหนึ่งที่ทำตรงนี้คืออยากเป็นต้นแบบให้ลูกๆ รวมถึงเด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้เห็นแบบอย่าง และลุกขึ้นมาช่วยเหลือสังคม เป็นจิตอาสายุคใหม่ที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยทำงานให้ประสบผลสำเร็จ” นายบรรหารกล่าว

นายบรรหาร วิสิทธิ์

ความดีทำได้ ไม่ต้องรอให้พร้อม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image