แนวโน้มทั่วโลก ‘ฆ่าตัวตาย’ พุ่ง ‘จิตแพทย์’ แนะรู้ทัน ป้องกันได้

นพ.ประภาส อุครานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ เปิดเผยในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 15 และการประชุมวิชาการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็ก ครั้งที่ 13 ว่า มีการคาดการณ์จากทั่วโลก ว่า ในช่วง 20-30 ปีนี้ ปัญหาสุขภาพจิตและการทำร้ายตัวเองจะทวีความรุนแรงมากขึ้นตามปัญหาสังคมที่มีความซับซ้อน สำหรับประเทศไทย คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้เช่นกัน เพราะสังคมไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพจิตเท่าที่ควร

นพ.ประภาส กล่าวว่า ในรอบ 3 ปี (ปี 2556-2558) จังหวัดในภาคเหนือ ยังคงมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าภาคอื่น โดยในปี 2558 พบว่า ช่วงอายุ 30-54 ปี ฆ่าตัวตายมากกว่าช่วงอายุอื่น โดยเฉพาะช่วงอายุ 35-39 ปี ฆ่าตัวตายสูงสุด และเพศชายยังคงฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าเพศหญิง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญนำไปสู่การฆ่าตัวตายมีอยู่ด้วยกันหลายปัจจัยที่ควรร่วมมือกันเฝ้าระวังและป้องกันอย่างจริงจัง ได้แก่ ปัญหาความสัมพันธ์ เช่น น้อยใจ ถูกดุด่า โดนตำหนิ ทะเลาะกับคนใกล้ชิด หุนหันพลันแล่น ถูกนอกใจ อกหักรักคุด ติดสุรา ยาเสพติด ทรมานจากโรคเรื้อรัง เป็นโรคจิต โรคซึมเศร้า เคยทำร้ายตัวเองมาก่อน ตลอดจนมีปัญหาเศรษฐกิจ ยากจน ขัดสน เงินไม่พอใช้ เสียทรัพย์จากการพนัน เป็นต้น

“การฆ่าตัวตายสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และการฆ่าตัวตายเหมือนโรคอื่นๆ ที่รักษาและป้องกันได้ องค์การอนามัยโลกจึงกำหนดเป้าหมายให้ประเทศสมาชิกร่วมกันลดอัตราการฆ่าตัวตายในแต่ละประเทศร้อยละ 10 ภายในปี 2563 และ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กำหนดเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ คือ อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จไม่เกิน 6.5 ต่อแสนประชากร” นพ.ประภาส กล่าว

ขณะที่ พ.ต.ท.หญิง พญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล จิตแพทย์ประจำกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด รพ.ตำรวจ กล่าวถึงกรณีมีข้อมูลปีที่ผ่านมาตำรวจฆ่าตัวตายสำเร็จสูงมากถึง 30 ราย ว่า ตำรวจฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าคนทั่วไป 2-3 เท่า ทำให้ตัวเลขสูงกว่าอาชีพอื่น สาเหตุเพราะมีอาวุธปืนในครอบครอง และมีปัจจัยเสริมคือ งานเสี่ยงสูง ภาระงานมาก มีปัญหาการเงิน บางรายมีอาการทางจิตและโรคซึมเศร้า และสังคมมองตำรวจในแง่ลบ ทั้งหมดนี้แก้ได้โดยคนรอบข้างให้กำลังใจ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image