กรมอนามัยยัน’ปลาสวาย’โอเมก้า 3 สูงไม่แพ้’แซลมอน’ แนะเคล็ดลับเลือกสีสดหรือซีด แบบไหนดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ในสังคมออนไลน์มีการแชร์ข้อมูลว่า “ปลาสวาย” เป็นปลาน้ำจืดที่มีโอเมก้า 3 สูงกว่าปลาทะเลอย่างปลาแซลมอน โดยมีการระบุรายละเอียดต่างๆ แต่ปราศจากแหล่งข้อมูลวิชาการอ้างอิง โดยระบุว่า “ปลาสวายมีโอเมก้าสูงถึง 2,570 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนัก 100 กรัม มากกว่าปลาทะเลอย่างปลาแซลมอนที่มีโอเมก้า 3 ราวๆ 1,000-1,700 มิลลิกรัมเท่านั้น ทำให้เราไม่ต้องไปซื้อปลาทะเลแพงๆ รับประทาน เราก็ได้กรดไขมันโอเมก้า 3 ได้เหมือนกัน โดยส่วนใหญ่พอได้ยินคำว่า ‘โอเมก้า 3’ เราก็มักจะนึกถึงกรดไขมันชั้นดีที่มีอยู่ในปลาทะเล อย่าง ปลาแซลมอน ปลาเทราต์ ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาแมคคาเรล ซึ่งปลาเหล่านี้เป็นปลาที่นำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาค่อนข้างสูง จึงไม่ค่อยมีใครนึกถึงปลาน้ำจืดของไทย ว่าจริงๆ แล้วก็มีปลาบางชนิดที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูงไม่แพ้ปลาทะเลจากเมืองนอกเลย”

ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน นายสง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการโภชนาการ ที่ปรึกษากรมอนามัย กล่าวว่า ข้อมูลตารางคุณค่าทางอาหารในปลาน้ำจืดของไทยนั้น เบื้องต้นในเรื่องกรดไขมันไม่อิ่มตัว อย่างโอเมก้า 3 พบว่า ปลาสวายเป็นปลาที่มีไขมันชนิดนี้มากกว่าปลาอื่นๆ โดยมีทั้งในเนื้อปลาและในไข่ปลา โดยเฉพาะในไข่ปลาจะพบมากที่สุด แต่ไม่มีการเปรียบเทียบว่าปลาสวายมีโอเมก้า 3 มากกว่าปลาทะเลน้ำลึก อย่างปลาแซลมอนหรือไม่ แต่ข้อควรระวังคือ จะเห็นได้ว่าลักษณะของปลาสวายมีไขมันมาก แต่พบว่าส่วนใหญ่เป็นไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ปัญหาคือไม่ใช่ว่าปลาทุกชนิดที่มีไขมันในตัวเองมากแล้วจะเป็นไขมันไม่อิ่มตัวทั้งหมด ดังนั้น การรับประทานก็ต้องระมัดระวัง สิ่งสำคัญคือเมื่อพบว่าปลาน้ำจืดของไทยมีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่ไม่ต้องรับประทานปลาทะเลน้ำลึกนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากปลาของไทยย่อมมีราคาถูกกว่า

ด้าน พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปกติแล้วการรับประทานไม่ว่าเนื้อสัตว์ชนิดใดก็ตาม หรือแม้แต่ปลาซึ่งมีคุณค่าทางอาหารมาก แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องรับประทานอย่างนั้นเพียงอย่างเดียว เนื่องจากหลักการโภชนาการที่ดีคือต้องบริโภคให้หลากหลายและบริโภคให้ครบ 5 หมู่ตามคุณค่าทางอาหารที่ร่างกายควรได้รับ

ผู้สื่อข่าวถามว่านอกจากเรื่องโอเมก้าแล้ว ยังมีคำถามว่าหากกินปลาแซลมอนต้องเลือกสีสดหรือสีจางจึงจะปลอดภัย พญ.นภาพรรณกล่าวว่า ควรเลือกสีที่ไม่สดหรือจางจนเกินไป เนื่องจากสีสดมากๆ จนน่ากลัวก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าเป็นสีผสมอาหาร หรือสีอื่นๆ ที่อาจมีอันตรายได้ ขณะที่หากเลือกสีจางๆ ก็ใช่ว่าจะดี เนื่องจากสีซีดมากๆ แสดงว่ามีไขมันสูง ทำให้ความเข้มจางลง การกินอะไรที่มีไขมันสูงมากๆ ย่อมไม่ดีเช่นกัน

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของสำนักโภชนาการ กรมอนามัย มีการศึกษาคุณค่าทางอาหารของ “ปลา” โดยระบุว่าปลาเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง จัดปลาไว้ในอาหารหลักหมู่ที่หนึ่งในประเภทเนื้อสัตว์ ไข่ นมและถั่วเมล็ดแห้ง โปรตีนในเนื้อปลาจะถูกนำไปใช้ในการเสริมสร้างเนื้อเยื่อและซ่อมแซมสิ่งที่สึกหรอ ไขมันที่มีอยู่ในเนื้อปลาจะเป็นส่วนประกอบของเซลล์ต่างๆ โดยเฉพาะสมอง จะป้องกันการจับแข็งตัวของไขมันในเส้นเลือด วิตามินและแร่ธาตุที่มีอยู่ในเนื้อปลาจะควบคุมการทำงานของร่างกายให้ทำหน้าที่ได้ตามปกติ โดยคุณค่าทางด้านโปรตีน ปลาชนิดต่างๆ ให้โปรตีนในปริมาณที่สูงพอสมควร เนื้อปลา 100 กรัม จะประกอบขึ้นด้วยโปรตีนเป็นจำนวนกรัม ดังนี้ ปลาดุก 23 กรัม ปลาตะเพียน 22 กรัม ปลากระบอก 20.7 กรัม ปลาช่อน 20.5 กรัม ปลาทู 20 กรัม ปลาแป้น 19.6 กรัม ปลาหมอไทย 17.2 กรัม ปลาสวาย 15.4 กรัม ปลาหมึกกล้วย 15.2 กรัม และปลาเนื้ออ่อน 14.4 กรัม

คุณค่าทางด้านไขมัน ไขมันที่ประกอบในเนื้อปลาทำให้รสชาติและสีของเนื้อปลาแตกต่างกันออกไป เนื้อปลา 100 กรัม ประกอบด้วยไขมันเป็นจำนวนกรัม ดังนี้ ปลาสวาย 21.5 กรัม ปลาทู 6.7 กรัม ปลากระบอก 3.9 กรัม ปลาช่อน 3.8 กรัม ปลาตะเพียน 2.6 กรัม ปลาดุก 2.4 กรัม ปลาเนื้ออ่อน 2.3 กรัม ปลากราย 1.6 กรัม ปลาทรายแดง 1 กรัม ปลาแป้น 1 กรัม ปลาหมึกกล้วย 0.7 กรัม เป็นต้น ยังได้ทำการศึกษากรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวที่มีความสำคัญต่อร่างกาย ได้แก่ Eicosapentaenoic acid หรืออีพีเอ (EPA) Docosahexaenoic acic หรือดีเอชเอ (DHA) ด้วย
โดยอีพีเอเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งที่มีคุณสมบัติลดปัญหาการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดได้เนื่องจากเป็นสารตั้งต้นในการสร้างสารไอโคซานอยด์ที่มีคุณสมบัติลดการจับตัวของเกร็ดเลือด นอกจากนั้นร่างกายสามารถนำกรดไขมันอีพีเอนี้ไปสร้างสารที่ช่วยการขยายตัวของหลอดเลือดด้วย

นอกจากนี้ยังมีกรดไขมันอีกชนิดหนึ่งในกลุ่มเดียวกันนี้ คือดีเอชเอ ทำให้เซลล์มีความไวต่อการรับสัญญาณประสาท นอกจากนั้นยังพบว่ามีปริมาณสูงในจอตาและที่สำคัญที่สุด คือ เป็นไขมันที่เป็นส่วนประกอบของเซลล์สมอง ซึ่งพบว่ามีถึงร้อยละ 65 สมองมนุษย์มีไขมันชนิดนี้เป็นส่วนประกอบอยู่ครึ่งหนึ่งก่อนกำเนิด ส่วนทีเหลือจะได้มาในช่วงปีแรกของชีวิต ดังนั้น ดีเอชเอจึงมีความสำคัญมากต่อสตรีในระยะตั้งครรภ์และมารดาในระยะให้นมบุตร ที่ช่วยให้สมองทารกพัฒนาและเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image