เหยี่ยวถลาลม : 1 เหตุการณ์

ในสังคมเสรีประชาธิปไตย ที่ไม่ใช่การนำเอาคำว่า “ประชาธิปไตย” มาใช้แต่งเติม เช่น สังคมนิยมประชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยรวมศูนย์ มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ “เสรีภาพทางความคิด”

ความมีเสรีภาพในประเทศเสรีประชาธิปไตยเป็นทั้งความคิด ความเชื่อ และการดำเนินชีวิต

จึงไม่ผิดอะไรที่จะคิดแตกต่างกัน ตราบเท่าที่ไม่ไปล่วงละเมิด หมิ่นประมาท ใส่ความ หรือทำร้ายผู้อื่นไม่ว่าจะด้วยการพูด การเขียนและการกระทำต่างๆ

ใน 1 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คนหนึ่งอาจคิดอย่างหนึ่ง ส่วนอีกหลายๆ คน หรือคนอื่นๆ อาจมีมุมมองแตกต่างไป ตั้งแต่ใกล้ๆ คล้ายๆ กัน ไปจนถึงขั้นห่างกันไกลจนยากจะเข้าใจกันได้

Advertisement

ใน 1 เหตุการณ์ไม่จำเป็นต้องเห็นเหมือนกัน !

เช่นเรื่องที่ผู้พิพากษาท่านหนึ่งพยายามฆ่าตัวตายนั้นก็มีทั้งคนที่มองด้วยสายตาและทัศนคติที่ “ร้ายสุด” ไร้สาระและไม่มีประโยชน์ไปจนถึงมุมมองที่มากด้วยเมตตา ดราม่า สลดใจ

บางคนถึงกับมีวิถีการมองจากมุมสูง หรือที่เรียกว่า Bird’s-eye view

ความแตกต่างกันอย่างมากนั้นเป็น “ความธรรมดา”

ถ้าไม่มีจุดมุ่งหมายปู้ยี่ปู้ยำทำร้ายผู้อื่นแล้วทุกคนก็มีเสรีภาพที่จะคิด

อย่างมุมมองของ คุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นั้นถือว่า เป็นการมองแบบ Bird’s-eye view กล่าวคือ ไม่ได้จมอยู่กับดราม่าของเหตุการณ์ ไม่ได้มองที่ความเป็นปัจเจก แต่มองในเชิงระบบ

คุณนิพิฏฐ์บอกว่า ไม่อยากให้การยิงตัวเองของผู้พิพากษาหายไปกับสายลมแสงแดด แต่หลังจากนี้น่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในประเด็น “การตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจตุลาการในระบอบประชาธิปไตย”

นับเป็นมุมมองที่แตกต่างและน่าสนใจศึกษาค้นคว้าพัฒนา

ในการใช้อำนาจตุลาการนั้น จะต้องอ้างความยุติธรรม อ้างระบบกฎหมาย อ้างนิติธรรม ความเป็นนิติรัฐ แต่ความจริงแล้วแต่ละระบอบการปกครองก็สร้างคนออกมาไม่เหมือนกัน

ผู้พิพากษาที่เป็นผลิตผลของสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือเป็นผลิตผลของระบบอำนาจนิยม จะไม่เหมือนกับผู้พิพากษาที่เกิด เติบโต เรียนรู้และดำเนินชีวิตในระบบเสรีนิยม

ความไม่เหมือนกันนั้นเป็นความธรรมดา

ผู้พิพากษาในแต่ละระบอบการปกครองจึงไม่เหมือนกัน

“ระบบตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจตุลาการ” จะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในสังคมเสรีประชาธิปไตยโดยแท้ !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image